• เช็กคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" และ "สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร"
  • เปิดหมายเลขและรายชื่อ "ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม."
  • เปิดข้อห้ามความผิดเกี่ยวกับเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่สมรภูมิเดือดที่หลายคนรอคอย คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 11 เพื่อหาผู้นำคนที่ 17 ของชาวกรุงเทพฯ โดยในครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ

เมื่อพูดถึง "กรุงเทพมหานคร" ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีขนาดใหญ่มาก นับเป็นเมืองหลวงของประเทศที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญทุกด้าน จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคล แบ่งเขตการปกครองเป็น 50 เขต มีโครงสร้างการบริหารประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานคร เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ

...

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 ส่วนครั้งล่าสุดคือ เมื่อปี 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ โดยจากสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 10 ครั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้งที่มีผู้สมัครลงแข่งขันมากที่สุดคือในปี 2539 มีผู้สมัคร 29 คน โดยในครั้งนั้น นายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้คว้าตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มาได้

สำหรับศึกครั้งนี้ "ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" และ "สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร" จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีที่มาดังนี้

1. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 1 คน มาจากการเลือกตั้ง

2. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 50 เขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ 1 คน มีจำนวนสมาชิกรวมทั้งสิ้น 50 คน

ขณะที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นตำแหน่ง สำหรับอายุของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

บุคคลต้องห้ามใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ, สามเณร, นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

  • ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ที่ว่าการกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานเขตที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
  • ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

2. การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากพบว่าตนเอง หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

  • ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง (เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง เปิดตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.)
  • ยื่นหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
  • รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ "บัตรเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น" และ "บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น"
  • ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้

- บัตรเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน

- บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น เลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี

- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง

  • หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง โดยนำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

สำหรับหมายเลขและรายชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีดังนี้

เบอร์ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (สังกัดพรรคก้าวไกล)

เบอร์ 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (สังกัดพรรคประชาธิปัตย์)

เบอร์ 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 9 น.ส.วัชรี วรรณศรี (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี (สังกัดพรรคไทยสร้างไทย)

เบอร์ 12 นายประยูร ครองยศ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 14 นายธเนตร วงษา (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 18 น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 19 นายไกรเดช บุนนาค (ผู้สมัครอิสระ) (ตัดสิทธิ)

เบอร์ 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 22 นายวรัญชัย โชคชนะ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 28 นายสราวุธ เบญจกุล (ผู้สมัครอิสระ)

เบอร์ 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม (สังกัดพรรคประชากรไทย)

เบอร์ 30 นายพงศา ชูแนม (สังกัดพรรคกรีน)

เบอร์ 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา (ผู้สมัครอิสระ)

เปิดข้อห้ามความผิดเกี่ยวกับเลือกตั้ง

1. ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วย เพื่อการออกเสียงลงคะแนน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นมีกำหนด 20 ปี

2. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

3. ในระหว่างการออกเสียงลงคะแนน ห้ามใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ห้ามให้ผู้อื่นนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจทางกฎหมาย หรือทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนนโดยผิดไปจากความจริง หรือทำการใดเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

5. ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นำบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. วันเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นพนันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น

หากการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำของผู้สมัครเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น.