“ชัชชาติ” ปัดเกี่ยวข้องกรณี ICAO ให้ธงแดงไทย ยันอนุมัติเปิดสายการบินตามมาตรฐาน ชี้ เหตุการณ์เกิดหลังจากพ้นตำแหน่ง รมว.คมนาคม ไปแล้ว
วันที่ 16 เมษายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่าอนุมัติเปิดสายการบินในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กว่า 40 ราย จนเป็นเหตุให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้ธงแดงแก่ประเทศไทย เพราะไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2562 ธุรกิจการบินในไทยเติบโตมากกว่า 280% จาก 58 ล้านคน เป็น 120 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับการบินทั่วโลก
สำหรับการออกใบอนุญาตสายการบินจะมีอยู่ 2 ใบ คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ หรือ (Air Operating License : AOL) จะพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ อาทิ มีทุนจดทะเบียนเท่าไร มีผู้ถือหุ้นเป็นใคร มีเส้นทางหลักและรองอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าสายการบินมีทุนเพียงพอที่จะดำเนินการและสามารถรับผิดชอบผู้โดยสารได้หรือไม่ โดยมีกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ขออนุญาต ประกอบด้วย อธิบดีกรมการบินพลเรือน รองอธิบดีฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน ก่อนนำเสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติต่อไป และถ้าเป็นไปตามคุณสมบัติและระเบียบทั้งหมด รัฐมนตรีก็ต้องอนุมัติ ถ้าเป็นอย่างอื่นก็จะมีความผิดได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ICAO
นายชัชชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากทำตามขั้นตอนทั้งหมดที่ถูกต้องตามระเบียบแล้ว ประเทศชาติและประชาชนก็ยังได้ประโยชน์ เมื่อผู้โดยสารเยอะขึ้น โลว์คอสต์แอร์ไลน์ก็มากขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นจากการแข่งขัน ทำให้มีทางเลือกเยอะขึ้น ขณะเดียวกัน การอนุมัติสายการบินก็มีหลายประเภท ทั้งแบบประจำ แบบเช่าเหมาลำ ใบอนุญาตเฮลิคอปเตอร์ การต่อใบอนุญาตเดิม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและต่างชาติมากขึ้น
...
แต่ทั้งหมดนี้สายการบินก็ยังไม่สามารถขึ้นบินได้ เพราะต้องขออนุมัติใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เป็นใบที่ 2 เพื่อพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม แต่จะเป็นขั้นตอนของกรมการบินพลเรือน โดยมีอธิบดีกรมการบินพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแล และที่ผ่านมามีสายการบินได้รับอนุมัติ AOL ใบแรก แต่ไม่ได้รับอนุมัติ AOC ใบที่ 2 จำนวนมาก เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ส่วนกรณี ICAO ให้ธงแดงไทยจะมาเกี่ยวข้องกับใบที่ 2 หรือ AOC ที่จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องความปลอดภัย โดยในปี 2554 ทาง ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบและไม่พบว่ามีปัญหา หลังจากนั้นในสมัยที่ตนยังอยู่ในตำแหน่ง ทางกรมการบินพลเรือนแจ้งว่าพร้อมสำหรับการตรวจสอบ จนกระทั่งยุบสภาปลายปี 2556-2557 และเกิดการรัฐประหาร ตนเองต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ประเด็นสำคัญคือหลังปี 2558 ICAO ได้เปลี่ยนวิธีการตรวจให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งกรมการบินพลเรือนอาจไม่ได้รองรับ หรือเตรียมเรื่องการตรวจใหม่ จึงทำให้ในที่สุด ICAO ให้ธงแดงประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 และส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินการท่องเที่ยวไทย ทำให้สายการบินในไทยไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ได้
ในส่วนปัญหาของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น นายชัชชาติ ระบุว่า การบินไทย ไม่ได้มีปัญหาจากการออกใบอนุญาต และควรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เนื่องจากตลาดที่ขยายขึ้น แต่เป็นปัญหาต่อเนื่องเพราะการบินไทยมีการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2551.