อย่างที่เคยเกริ่นเอาไว้แล้ว ปัญหาปากท้องชาวบ้าน จะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาหลังจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเตรียมรับมือให้ดี คือ การวางแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากไม่ใช่เฉพาะปัญหาโรคการแพร่ระบาดของโควิดเท่านั้น แต่สถานการณ์โลกกำลังเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงวิถีของเศรษฐกิจโลก อาทิ สงครามรัสเซีย ยูเครน การสู้รบถึงจะไม่เกี่ยวกับเอเชียหรืออาเซียน เป็นเรื่องของยุโรปกับรัสเซีย เอาเข้าจริง ทุกประเทศประสบกับวิกฤติด้านพลังงานเหมือนกันหมด เมื่อ ก๊าซและน้ำมัน ถือว่าเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ย่อมกระทบกับปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของประชากรเป็นเรื่องปกติ
รัฐบาลไทย เหนื่อยกับปัญหาเศรษฐกิจมาหลายเด้ง แน่นอนว่า ปัญหาด้านพลังงานในขณะนี้รัฐต้องแบกรับภาระอย่างเห็นได้ชัด กระทรวงพลังงานและ ปตท. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ มีหน้าที่ในการบรรเทาผลกระทบ ซึ่งก็เป็นปัญหาโลกแตก ในการต้องขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันแต่ละครั้ง กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะเรานำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงเหล่านี้ในสัดส่วนที่มากกว่าการผลิตในประเทศ ดังนั้นราคาอุปสงค์อุปทานจึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของราคาตลาด กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่ารัฐเอาเปรียบประชาชนเรื่องของการเก็บภาษีพลังงาน การบริหารจัดการพลังงานเชื้อเพลิง จนทำให้ราคาน้ำมันแพง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดทั้งหมดในยามที่ข้าวยากหมากแพงคงเป็นไปไม่ได้ ปกติรัฐจะแบ่งรายได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง มาเก็บไว้ที่กองทุนพลังงานเชื้อเพลิงเพื่อนำมาใช้ชดเชยในกรณีฉุกเฉิน ปรากฏว่าที่ผ่านมา ได้มีการนำเงินจากกองทุนมาชดเชยทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซที่ใช้ในรถยนต์สาธารณะ น้ำมันดีเซล เพื่อให้อยู่ในระดับที่สมดุลของเศรษฐกิจ จนกองทุนหมดเรียบร้อย แต่วิกฤติยังต่อเนื่อง จำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อนำมาชดเชยบรรเทาการแก้ปัญหาซึ่งก็จะมีเพดานในการกู้ยืมที่จำกัดอีกเช่นกัน
...
กรณีนี้ วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. ได้ชี้แจงว่า นโยบายของกระทรวงพลังงานในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากราคาพลังงานที่ผันผวนในตลาดโลกจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 บอร์ด ปตท. มีมติให้ขยายระยะเวลาคงราคาขายปลีกก๊าซสำหรับยานยนต์ เอ็นจีวี ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัมตามมาตรการ เอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน และสำหรับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ในเขต กทม.และปริมณฑล คงราคาไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จากวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มิ.ย. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,332 ล้านบาท
นอกจากนี้ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. อธิบายจากสถานการณ์ที่พลังงานทั่วโลกมีความผันผวนในระยะยาวจำเป็นต้องช่วยพยุงค่าก๊าซหุงต้มหรือ แอลพีจี ให้กับผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อคนต่อเดือน ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2562 ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 15.6 ล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจปากท้องชาวบ้านอยู่ได้ แค่เรื่องความผันผวนของค่าครองชีพเรื่องเดียว ถ้าไม่มีการลดต้นทุน
เศรษฐกิจภาพรวมก็ไปไม่รอด.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th