สธ. จ่อชง ศบค. Test & Go ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าไทย ตั้งเป้าในอนาคตสวนสาธารณะจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากาก “หมอยง” ชี้ โอมิครอน มีระยะแพร่กระจายโรค 6-9 วัน

วันที่ 16 มี.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 18 มี.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระบบไม่กักตัว Test & Go เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางเศรษฐกิจ จากเดิมกำหนดว่าผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา เมื่อมาถึงแล้วให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งทันที

ทั้งนี้ จะเสนอว่าการตรวจ RT-PCR ใน 72 ชั่วโมง ไม่จำเป็นแล้ว ปรับให้มาทำครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางเข้าถึงไทย และให้ตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 ของการเดินทางมาถึง ขณะที่เงินประกันสุขภาพผู้เดินทางจะกำหนดลดลงจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณจากค่าเฉลี่ยการรักษาพยาบาล แต่ตอนนี้โรคเบาลงแล้วจากเดิมที่เราเฉลี่ยค่ารักษา 1,000,000 บาทต่อราย ตอนนี้ก็เหลือเพียง 20,000 บาทต่อราย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

...

นอกจากนี้ จะรายงานต่อ ศบค. เรื่องแผนปรับโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขวางแผนไว้ โดยจะมีผลต่อการควบคุมโรค การรักษา สังคมและกฎหมาย ซึ่งด้านการแพทย์ได้รับการสนับสนุนให้การแพทย์นำอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณาทางสังคมและการแพทย์ให้สมดุล เนื่องจากเราออกกฎหมายหลายสิบฉบับในช่วงการระบาด ฉะนั้นต้องปรับกฎหมายเข้าสู่ปกติ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลเตรียมการปรับเป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อในภาวะฉุกเฉินแล้ว

อย่างไรก็ตาม การทำให้เป็นโรคประจำถิ่นเราอาจต้องดูการประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย ทั้งหมดต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าไวรัสไม่กลายพันธุ์รุนแรงเข้ามา ต้องทำเป็นขั้นตอน ไม่ใช่ว่า 4 เดือนแล้วจะเปิดหน้ากาก มีกิจกรรมสังคมเต็มที่ แต่ตั้งเป้าหมายว่าสวนสาธารณะจะเป็นแห่งแรกที่ไม่ต้องสวมหน้ากากเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มก็อาจผ่อนคลายมากขึ้น เช่น กีฬาฟุตบอล คอนเสิร์ต แต่ต้องมีมาตรการป้องกันคลัสเตอร์ใหญ่

นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้เป็นไปตามที่เราวางฉากทัศน์ คือช่วงกลางเดือน มี.ค. การติดเชื้อจะเริ่มชะลอตัว เนื่องจากใช้มาตรการคล้ายการกั้นน้ำ ที่น้ำค่อยๆ เอ่อล้นและเริ่มลดลง สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ข้อมูลจากนักวิชาการโรงพยาบาลศิริราช และต่างประเทศ ระบุว่า อยู่ในช่วงกลางๆ และกำลังจะเข้าขาลง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยถือว่าอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างดี ตอนนี้ดูเหมือนว่าโรคจะแรงเพราะตัวเลขจำนวนติดเชื้อ แต่ดูเฉพาะตรงนี้ไม่ได้ ต้องมองมากกว่ามิติการระบาด ไม่ใช่เพียงตัวเลขติดเชื้อรายวัน แต่ต้องมองการครอบคลุมวัคซีน ระบบบริการ มองตัวเชื้อและลดความรุนแรงลง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กว่า เดิมเรามีการกักตัวผู้ติดเชื้อ หรือสัมผัสโรคนานถึง 14 วัน เมื่อเข้าสู่ยุคโอมิครอน และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้วมีภูมิต้านทาน ทำให้ระยะเวลาในการแพร่กระจายโรค หรือติดเชื้อสั้นลง การศึกษาในญี่ปุ่น การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนตรวจพบเชื้อได้สูงสุดในน้ำลาย ลำคอ หรือโพรงจมูก ในช่วง 2-5 วัน หลังตรวจพบ หรือมีอาการ เชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว

ส่วนระยะแพร่กระจายโรคจะอยู่นาน 6-9 วัน การติดต่อของโรคจะเกิดได้สูงในช่วง 7 วันแรก โดยเฉพาะ 2-5 วัน หลังตรวจพบหรือมีอาการของโรค การกักตัวในระยะหลัง จึงมีแนวโน้มสั้นลงมาอยู่ที่ 7 วัน ก็สามารถออกจากการกักตัว และให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการแพร่กระจายโรค เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน อยู่ให้ห่างจากบุคคลอื่น ล้างมือลดการจับต้อง เป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 วัน เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ตลอดไป แนวทางการปฏิบัติตนจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุและผล เพื่อให้การกระทบต่อชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด.