เด็กเพื่อไทย ถามรัฐบาล เร่งปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คิดดีแล้ว หรือ "ถังแตก" กันแน่ ห่วงผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา หลังถูกปลดออกจาก "ยูเซ็ป" ชี้ ประเทศต้องไปต่อ แต่ต้องคิดให้รัดกุม

วันที่ 16 มี.ค. 65 นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการทางสาธารณสุข สอดรับการเตรียมประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ภายหลังนำการรักษาโควิด-19 ออกจากยูเซ็ป แล้วตั้งเกณฑ์ "ยูเซ็ปพลัส" ขึ้นมาใหม่นั้น รัฐบาลมีการพิจารณาที่รัดกุมดีแล้ว หรือเป็นเพราะต้องเร่งดำเนินการเพราะถังแตก ไม่มีเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลให้ประชาชนแล้วกันแน่ เพราะยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน รวมการตรวจ ATK ยังเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแทบทุกวัน อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงแสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ BA.2 ที่มีความรวดเร็วสูง และก่อให้เกิดภาวะ Long Covid แต่หลังจากวันนี้ (16 มี.ค.) ผู้ป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสีเขียว จะเข้าถึงการรักษายากยิ่งไปกว่าเดิม และอาจเกิดเหตุโดนปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสะดวก ทั้งที่การรักษาโรคโควิด-19 ควรให้เข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขให้เร็วที่สุด

นายชนินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังประกาศเตรียมให้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องในการประกาศใช้มาตรการโรคประจำถิ่น ผ่อนคลายการรับชาวต่างชาติจากชายแดนกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ (2565) ในขณะที่สถานการณ์การระบาดในจังหวัดยังทรงตัวในระดับค่อนข้างสูง ผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 300 คนต่อวัน มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มในระดับต่ำ เพียงประมาณ 55% หรือต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จนสร้างความกังวลให้กับคนในจังหวัดอย่างมาก ยิ่งการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนา และกิจกรรมทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เกรงว่าคนสุรินทร์จะต้องรับกรรมจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาลแทน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งวางแผนให้รัดกุม และประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่

...

1. เกณฑ์การรับวัคซีน และคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศได้

2. มาตรการการตรวจคัดกรอง และติดตามผู้เดินทาง เช่น ต้องตรวจ ATK ณ ด่านชายแดน ทั้งก่อนและหลังผ่านข้ามแดน และการให้เปิด GPS ติดตามผู้เดินทาง

3. เกณฑ์ในการวัดผลการระบาดที่เพิ่มขึ้น และมาตรการรองรับกรณีฉุกเฉิน

4. ความพร้อมของระบบสาธารณสุขในจังหวัด และการเตรียมประสานความร่วมมือจากจังหวัดข้างเคียง

“รัฐบาลชุดนี้มีผลงานเด่นชัดเรื่องความคิดไม่รอบคอบ และขาดการสื่อสารที่ชัดเจนกับประชาชน ผมในฐานะคนสุรินทร์เข้าใจดีว่า ประเทศไทยต้องไปต่อ เพื่อเปิดให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ แต่การดำเนินการใดๆ ต้องมีความรัดกุม และมีการสื่อสารกับประชาชนที่ชัดเจน หากยังคิดบริหารแบบขอไปทีอยู่อย่างนี้ ประชาชนคงอยากให้ไปๆ สักทีเสียดีกว่า” นายชนินทร์ กล่าว.