“อุตตม สาวนายน” แนะ 2 แผนรับมือสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย รักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักลงทุน ชี้หากจำเป็นต้องกู้ ต้องไม่ให้เป็นภาระต่อการเงินในอนาคต

วันที่ 9 มี.ค. 2565 นายอุตตม สาวนายน แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึง สถานการณ์สงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่เริ่มส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ว่า สิ่งที่เราควรตระหนักคือ วันนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจากพิษโควิด สถานการณ์ในยูเครนอาจกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมประเทศไทยหนักหน่วงยิ่งขึ้น และอาจกระทบต่อโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศจะพลิกฟื้นได้ภายในปีนี้ตามที่มีการคาดหวังหรือประเมินไว้จากหน่วยงานต่างๆ

ขณะนี้ สงครามยูเครน เพิ่มความผันผวนและความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานพุ่งสูง ก็จะกระทบต่อการฟื้นและขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ คือ ความไม่แน่นอนในทิศทางนโยบายของธนาคารกลางประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ที่อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ยูเครน

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงการถูกกระทบได้ยาก เช่น ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.28 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งกระทบราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเดินทาง การขนส่งให้เพิ่มขึ้น และยังอาจขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ ได้อีก

...

จึงคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยควรเร่งทำในเวลานี้ นอกเหนือจากดูแลประชาชนที่ถูกผลกระทบอย่างครอบคลุมแล้ว เราควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ในระยะต่อไปด้วยความรอบคอบไว้ก่อน เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสถานการณ์นี้ จะขยายวงหรือยืดเยื้อยาวนานไปอีกเท่าใด พร้อมเห็นว่าการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก

สำหรับการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็น โดยภาครัฐควรพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. การรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง รวมถึงตลาดทุนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติและมีความเสี่ยงสูงนั้น เสถียรภาพและความเข้มแข็งของระบบ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และจะเป็นเกราะให้เศรษฐกิจของประเทศในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีปัญหารุนแรง

2. หากจำเป็นต้องมีการกู้ยืม ก็จะต้องไม่ให้เป็นภาระต่อการเงินการคลังของประเทศในอนาคต การจัดสรรงบประมาณควรนำไปสู่การใช้จ่ายที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด

นายอุตตม ยังกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนควรเตรียมพร้อมวางแผนรับมือไว้ด้วยเช่นกัน โดยควรติดตามข่าวสารข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับภาคประชาชน ลูกจ้าง พนักงาน ก็คงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายและรายได้เป็นหลัก

ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นมากเช่นปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนย่อมมีความจำเป็น โดยความร่วมมือใกล้ชิดจะเป็นรากฐานของการกำหนดมาตรการ และแนวทางการดูแลแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ตรงเป้าและสัมฤทธิผล ขณะเดียวกันก็เป็นการเติมกำลังใจให้กันและกัน ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดการกับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงขึ้น และเราจะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ในทุกรูปแบบ