"กระทรวงพาณิชย์" เปิดฉากประชุมด้านเศรษฐกิจเอเปค เร่งติดตามลดภาษีสินค้าไอที-สิ่งแวดล้อม หนุน BCG โมเดล ชู แผนระดมความเห็นจัดทำ FTAAP ย้ำ กำหนดระเบียบอุดหนุนประมง 

วันที่ 7 มี.ค. นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นด้วยการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (APEC Senior Officials’ Meeting: SOM) ครั้งที่ 1 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 14-25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงดังกล่าว กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประกอบด้วย การประชุมกลุ่มทำงานด้านการเปิดตลาด (Market Access Group: MAG) การประชุมกลุ่มงานด้านบริการ (Group on Services: GOS) และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI)

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมกลุ่มทำงานด้านการเปิดตลาด (MAG) เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ที่ประชุมได้ติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ของสมาชิกเอเปค ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้ถึง 94.8% อาทิ การตีพิมพ์กฎระเบียบมาตรการทางการค้าเพื่อความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้สมาชิกอื่นแสดงความเห็นก่อนจะมีผลบังคับใช้ การเผยแพร่ระยะเวลาที่ใช้ในการปล่อยสินค้า การตรวจปล่อยสินค้าเร่งด่วน และการอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสินค้าภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานศุลกากร สำหรับเวียดนามและปาปัวนิวกินี ขอเวลาปรับตัวจนถึงปี 2567 อาทิ การดำเนินกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง

...

นางอรมน เสริมว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการยกเว้นภาษีศุลกากรสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ภายใต้ WTO จำนวน 201 รายการ ภายในปี 2566 โดยปัจจุบันสมาชิกเอเปค 13 เขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว ส่วนจีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย จะลดภาษีสินค้า IT ครบทั้ง 201 รายการ ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ไทยในการแข่งขันสินค้า IT ในตลาดโลก สำหรับอีก 9 เขตเศรษฐกิจ อาทิ บรูไนฯ ชิลี และเม็กซิโก ยังไม่ได้เข้าร่วมการลดภาษีศุลกากรสินค้า IT ในกรอบ WTO

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการลดภาษีศุลกากรสินค้าสิ่งแวดล้อม โดยสมาชิกเอเปค ยกเว้นชิลี ได้ดำเนินการลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าสิ่งแวดล้อม เหลือ 0-5% จำนวน 54 รายการ อาทิ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เตาเผาและเตาอบ (สำหรับกำจัดขยะและของเสียอันตราย) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าประหยัดพลังงาน และได้หารือแนวทางการจัดทำบัญชีรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อให้สมาชิกใช้ส่งเสริมสินค้าที่ช่วยอนุรักษ์ต่อไป

สำหรับการประชุมกลุ่มงานด้านบริการ (GOS) ระหว่างวันที่ 17-19 ก.พ. 2565 ได้หารือโครงการที่สนับสนุนการส่งเสริมการค้าการลงทุน และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการบริการที่สนับสนุนการกำจัดขยะในทะเล โครงการบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และโครงการบริการโลจิสติกส์ในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น และในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเอเปคด้วยดี

ส่วนการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (CTI) ระหว่างวันที่ 18 และ 21-22 ก.พ. 2565 ไทยได้เสนอแผนการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้งจากภาครัฐและเอกชนของเอเปค เรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่สมาชิกเอเปคมีแนวคิดตั้งเป้าจะจัดทำ FTA ในอนาคต โดยเฉพาะหลังทั่วโลกเผชิญสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในการประชุมเอเปค 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เชิญเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์) บรรยายสรุปความคืบหน้าเรื่อง WTO และการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ซึ่งสมาชิกเอเปคเห็นความสำคัญและสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี (Multilateral Trading System: MTS) ของ WTO โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดระเบียบกำกับดูแลการอุดหนุนประมง การปฏิรูป WTO และการแก้ไขปัญหาตำแหน่งองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างอยู่

ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในปี 2564 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค มีมูลค่า 385.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 71.5% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอเปค มูลค่า 195.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 72% ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากเอเปค มูลค่า 190 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน 71% ของการนำเข้ารวมของไทย