แม้ไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย แต่ก็นับเป็นประชามติของชาติสมาชิกในยูเอ็น หลังมีการเรียกประชุมฉุกเฉิน สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันพุธที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา

ชาติสมาชิกลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 141 ต่อ 5 เสียง เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันที

ไทยก็เป็นหนึ่งใน 141 เสียงข้างมากนี้ด้วย

ส่วน 5 ชาติที่ออกเสียงคัดค้าน มี รัสเซีย และชาติพันธมิตรอย่าง เบลารุส, ซีเรีย, เกาหลีเหนือ และเอริเทรีย

โดยมี 35 ชาติ ที่งดออกเสียง ซึ่งรวมถึง จีน อินเดีย และเวียดนาม

เป็นปฏิกิริยาของชาติสมาชิกยูเอ็นส่วนใหญ่ ที่แสดงความหนักแน่นในการร่วมประณามรัสเซีย

ยังมีเหตุการณ์ที่นักการทูตนับร้อยคน จาก 40 ประเทศ อาทิ จากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ “วอล์กเอาต์” ออกจากที่ประชุม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ในขณะที่ “เซอร์เก ลาฟรอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ยืนแถลงต่อที่ประชุม

เหลือเพียงนักการทูตไม่กี่คนที่ยังนั่งอยู่ในที่ประชุม คือ รัสเซีย, ซีเรีย, จีน และเวเนซุเอลา

เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

แต่ถึงทั่วโลกจะเพิ่มแรงกดดันยังไง “วลาดิเมียร์ ปูติน” ผู้นำสูงสุดรัสเซีย ยังไม่มีทีท่าว่าจะรามือง่ายๆ เพราะยุทธศาสตร์สำคัญ คือการตีกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน ให้แตกยังไม่บรรลุผล

ซ้ำยังจะเพิ่มระดับความรุนแรงในการโจมตี ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทำลายล้างที่หนักกว่าเดิม

หวังบดขยี้กรุงเคียฟ ให้ราบเป็นหน้ากลอง

...

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มขยายลามเป็นวงกว้าง

ประเทศไทยเองก็เลี่ยงไม่พ้น จน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องเรียกทีมเศรษฐกิจ ทั้ง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯและ รมว.พลังงาน “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ที่ปรึกษาฯด้านเศรษฐกิจ

เข้าหารือเพื่อประเมินเศรษฐกิจในภาพรวม

ที่ ณ วันนี้ ราคาน้ำมันดิบ ทะลุเกิน 120 ดอลลาร์/บาร์เรลไปแล้ว

หากสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อออกไป ยิ่งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

โดยออกมาตรการมารับมือ 3 แนวทาง คือ

1.หาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่าย ดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า

2.บรรเทาภาระหนี้สิน ต้องการให้มีหน่วยงานขับเคลื่อน ไม่ให้มีคนต้องถูกยึดบ้าน ยึดรถ

3.การลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเสมอภาค ให้เร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ อย่าง EEC และโครงสร้างพื้นฐานกระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น

กำชับให้เร่งรัดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แบ่งเบาภาระประชาชนทุกคนเห็นผลโดยเร็วที่สุด

นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เทคแอคชันได้ทันกับสถานการณ์

เพราะรู้ดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือจุดชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล.

เพลิงสุริยะ