“ศักดิ์สยาม” เปิดไทม์ไลน์โอนย้าย 3 สนามบิน “อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์” จาก กรมท่าอากาศยาน มาสังกัด ทอท. มั่นใจเสนอ ครม.เห็นชอบแนวทางความรับผิดชอบได้ในเดือน เม.ย.นี้ คาดโอนย้ายได้ในสิ้นปี 65

วันที่ 16 ก.พ. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในนโยบายการเพิ่มศักยภาพสนามบินในภูมิภาคให้รองรับการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของประเทศว่า ขณะนี้ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้มีการดำเนินการร่วมกันที่จะโอนย้ายสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ จากที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย. มายัง ทอท. ล่าสุด ทาง ทอท.ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน Action Plan ที่จะเข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. ทั้ง 3 แห่งแล้ว โดยจะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบแนวทางความรับผิดชอบได้ประมาณเดือน เม.ย. 2565

หลังจากนั้นทาง ทย. และ ทอท.จะหารือร่วมกันเพื่อสรุปความร่วมมือในการบริหารจัดการท่าอากาศยานร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศ ก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. เพื่อรับทราบความร่วมมือระหว่าง ทย. และ ทอท. ในเดือน ก.ค. 2565 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการในรายละเอียดต่างๆ ของการโอนย้าย คาดว่าจะมาสามารถโอนความรับผิดชอบของทั้ง 3 สนามบินได้อย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2565

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการร่วมกันกับ ทย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับโอน 3 สนามบินมาสังกัด ทอท. มีความคืบหน้าไปมาก ขณะนี้เป็นการหารือร่วมกันในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งทาง ทอท.มีความต้องการที่จะเข้าบริหารจัดการและพัฒนาทั้ง 3 สนามบิน เนื่องจากสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดโควิด จะพบว่าสนามบินในสังกัด ทอท.ทั้ง 6 สนามบิน ประกอบด้วย สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย และสนามบินภูเก็ต มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 142 ล้านคนต่อปี และเป็นผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิถึง 65 ล้านคนต่อปี และการพัฒนาขยายขีดความสามารถของแต่ละสนามบินก็มีข้อจำกัด

...

ดังนั้นการขยายขีดความสามารถสนามบินในภูมิภาคเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของประเทศ หรือ Hub ทางการบิน จึงเป็นสิ่งที่ ทอท.ต้องเร่ง เนื่องจาก ทอท.มีข้อได้เปรียบที่มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการผ่านสนามบิน ทอท.ต่อปีกว่า 85% ของปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงข่ายทางอากาศของประเทศเช่นกัน ประกอบกับห้วงอากาศที่แออัดอยู่ในปัจจุบันจะแออัดอยู่บริเวณสนามบินที่ ทอท.บริหาร กล่าวคือ ทางเหนือบริเวณ สนามบินเชียงใหม่ ทางใต้ บริเวณสนามบินภูเก็ต และภาคกลางบริเวณกรุงเทพฯ คือบริเวณสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ แต่กลับพบว่าน่านฟ้าที่ยังคงมีการจราจรทางอากาศที่เบาบาง คือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของไทย ทั้งทางอีสานตอนบนและอีสานตอนล่าง

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า ทอท.จึงมีศักยภาพในการบริหารจัดการ และการทำการตลาดไปยัง Hub ใหม่จึงเป็นเรื่องที่ได้เปรียบ ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ทอท.ในฐานะผู้มีลูกค้าในมือจำนวนมาก และยังมีความพร้อมทางการลงทุน (รวมถึงด้านเทคโนโลยีทันสมัยราคาแพง) จึงเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการสร้าง Hub ทางอีสานตอนบน (อุดรธานี) และอีสานตอนล่าง (บุรีรัมย์) เพื่อเป็นประตูสุ่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นสำคัญ ส่วนสนามบินกระบี่นั้นจะรับบริหารจัดการจากเหตุผลที่แตกต่างจากสนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ เนื่องจากการเข้าบริหารจัดการสนามบินกระบี่ เนื่องจากความแออัดของสนามบินภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะ ไม่สามารถขยายศักยภาพได้เพิ่มขึ้นอีก.