ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย เตรียมนำคำแถลงการณ์ บทวิจารณ์ ของแอมเนสตี้ พิจารณาการยื่นขอต่อใบอนุญาตในไทย ว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ และภาพลักษณ์รัฐบาลหรือไม่
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International Limited หรือ AI) ได้ยื่นขอใบอนุญาตให้เข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ต่อกระทรวงแรงงานจริง เนื่องจากใบอนุญาตฯ ที่ออกให้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ได้ครบกำหนดอายุใบอนุญาตเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตดังกล่าวจะพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ซึ่งมีกรมการจัดหางานเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมขององค์การเอกชนต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้ระเบียบกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ว่าด้วยการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ.2541 และระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทยและการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย พ.ศ.2543 ซึ่งองค์การฯ ที่ได้รับอนุญาตฯ ต้องดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไร หรือไม่มุ่งหวังผลทางการเมือง คือ การไม่ดำเนินกิจกรรม หรือโครงการใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ไม่ว่าในลักษณะใดที่เป็นการชี้นำ ครอบงำ หรือโน้มน้าว ซึ่งอาจจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือละเมิดกฎหมายไทย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
...
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้มีหนังสือถึงผู้จัดการสำนักงานและการเงิน องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ในการขอความร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความระมัดระวังและเป็นกลาง ดำเนินกิจกรรมกับทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และให้ประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุก 6 เดือน ซึ่งองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ได้ส่งรายงานผลการดำเนินงานตามที่กำหนด นอกจากนี้ยังมีคำแถลงการณ์ บทวิพากษ์วิจารณ์ ข่าวสาร วิดีโอต่างๆ ขององค์การฯ ได้เผยแพร่ในช่วงระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม ขบวนการนิติบัญญัติ และภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยหรือไม่ ประกอบการพิจารณาด้วย.