“พล.อ.ประยุทธ์” ประชุมบอร์ด สสว. ย้ำ รัฐบาลจริงใจ ขับเคลื่อนทุกอย่างเพื่อยกระดับและพุ่งเป้าช่วยเหลือ SME พร้อมรับทราบผลดำเนินงานโครงการนำร่อง ONE ID เห็นชอบแผนส่งเสริม SME ปี 2566
วันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 1/2565 และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมว่า การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี จะต้องหาแนวทางให้สามารถดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการช่วยเหลือดูแลของรัฐบาลได้ ซึ่งเรื่องการขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอีนั้นพบว่า ตัวเลขจำนวนเอสเอ็มอีของภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชนยังไม่ตรงกัน จึงขอให้ช่วยกันบริหารจัดการข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องการใช้ฐานข้อมูล และระเบียบต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือมาโดยตลอด สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจ ขับเคลื่อนทุกอย่างในการยกระดับเอสเอ็มอีให้ดีขึ้น
...
นายกรัฐมนตรี กล่าวกำชับว่า ขอให้มีการตรวจสอบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ดำเนินการเข้าข่ายมีการฮั้ว โดยต้องมีมาตรการตรวจสอบที่รอบคอบ รัดกุม ให้ดำเนินการอย่างสุจริต ถ้าพบผู้ทุจริต ต้องถูกลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็กก็ตาม ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีเป็นไปแบบรายกลุ่ม วันนี้จะต้องแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมด โดยต้องแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า ค้นหาเอสเอ็มอีที่ยังมีศักยภาพในแต่ละภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาแต่ยังมีศักยภาพ ให้ล้มแล้วลุกไว ซึ่ง สสว. จะต้องทำงานแบบพุ่งเป้าให้กับรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ทำให้ภาคเอกชนเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์จากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นอย่างมาก รวมทั้งภาคเอกชนส่วนท้องถิ่นก็ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นอย่างดี
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ ปี 2564 โดย สสว. ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ในการพัฒนาระบบ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ SME” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องพัฒนาระบบให้บริการแก่ผู้ประกอบการผ่านหมายเลข ID เพียงตัวเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ หรือไม่ต้องยื่นเอกสารในทำธุรกรรมกับภาครัฐ ซึ่งคาดว่า ในการดำเนินงานระยะที่ 1 สามารถยืนยันตัวตนในกลุ่มผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่ตรวจสอบข้อมูลได้กับกรมการปกครอง และในระยะที่ 2 จะพัฒนากระบวนการยืนยันตัวตนกลุ่มนิติบุคคลที่ตรวจสอบข้อมูลได้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ ด้านการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริม SME ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเร่งฟื้นฟู SME ที่ประสบปัญหาให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ ด้วยบริการปรึกษาแนะนำเพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปรับปรุงกิจการผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service) ส่งเสริมให้ SME นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ รวมไปถึงการขายด้วย e-Commerce สนับสนุนให้ SME สามารถขายสินค้าและบริการให้ภาครัฐได้มากขึ้น ด้วยการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีคุณสมบัติ มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของภาครัฐ
ด้านการเตรียมความพร้อมและส่งเสริม SME ทุกกลุ่มให้ปรับตัวจนเข้มแข็งและเติบโต ด้วยการสร้างความพร้อมให้นักเรียน นักศึกษา ในการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ พัฒนาศักยภาพธุรกิจ SME ทั่วไปอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพและในกลุ่มที่มีความพร้อม ก็มีศักยภาพเพียงพอในการขยายกิจการได้ช่วยเหลือและสนับสนุน SME กลุ่มเฉพาะ ให้มีทักษะ ความสามารถ ในเชิงธุรกิจที่เพียงพอต่อการสร้างรายได้ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการสูงอายุ ธุรกิจยังชีพ และธุรกิจการเกษตร พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยและช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SME อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สนับสนุนให้ SME มีเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างและพัฒนาบุคลากร แรงงาน ให้มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจด้วยการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรค รวมไปถึง การพัฒนาระบบบริการภาครัฐที่ทันสมัยด้วยดิจิทัล เพื่อการเข้าถึงที่ง่ายของ SME เป็นต้น