ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคาะตัวเลข “คนจนประเทศไทย” รอบใหม่ออกมาแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ คนไทยทั้งประเทศ 66.17 ล้านคน (เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา 7 มกราคม 2565) เป็น “คนจน 20 ล้านคน” เพิ่มขึ้นจากผู้ถือ “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” 13.45 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 เป็น 20 ล้านคน ในปี 2565 คิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจนะครับ คิดไม่ถึงว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราจะมีคนจนเพิ่มขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ ไม่กี่ปีก่อนประเทศไทยมีคนจนไม่ถึง 10 ล้านคน แต่วันนี้คนจนเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว

จาก บัตรคนจน 13.45 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 เทียบกับ คนจน 20 ล้านคน ที่ ครม.เพิ่งเคาะออกมา แสดงว่าหนึ่งปีที่ผ่านมามีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 6.55 ล้านคน หรือ 48.69%

คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งงบประมาณสำหรับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 60,000 ล้านบาท รองรับการใช้จ่ายของผู้ได้สิทธิรอบใหม่ ซึ่งคาดว่า จะมีผู้รับบัตร (คนจน) รอบใหม่ 17 ล้านคน แต่เปิดกรอบไว้ 20 ล้านคน จากปัจจุบัน 13.45 ล้านคน ช่วงสองปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้คนตกงานเยอะมากและไม่มีรายได้ และมีการออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น เราจึงตั้งเป้าหมายคนจนเพิ่มขึ้น และมีมาตรการเข้มงวดขึ้น เพื่อให้สวัสดิการรัฐไปถึงคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ

คุณสมบัติเบื้องต้นของ “บัตรคนจน” ยังเหมือนเดิม คือ มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 1 แสนบาท เช่น เงินฝาก สลาก พันธบัตรรัฐบาล หากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินของครอบครัวเฉลี่ยไม่เกินคนละ 1 แสนบาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติอื่น เช่น ไม่มีบัตรเครดิต ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีประวัติซื้อขายหุ้น มีวงเงินกู้ซื้อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีวงเงินกู้ซื้อยานพาหนะไม่เกิน 1 ล้านบาท ใครมีคุณสมบัติครบตามนิยามนี้ ถือว่าเป็น “คนจน” ได้

...

นอกจาก “คนจน” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว “หนี้ครัวเรือน” ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สามารถทำให้หนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกัน ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 ข้อมูล แบงก์ชาติ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก 4.2% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับ 89.3% แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง

ไตรมาสก่อนหน้าคือ ไตรมาส 1 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนคนไทยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 90% ต่อจีดีพี สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกัน

ณ สิ้นปี 2519 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 79.8% ถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ไตรมาส 3 ปี 2564 หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 89.3% ของจีดีพี เพียงหนึ่งปีเศษ หนี้ครัวเรือนคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 9.5% สะท้อนถึงผลงานการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นหรือแย่ลง ความยากจน ความลำบาก เป็นอย่างไร คนไทยคงได้ลิ้มรสชาติกันหมดแล้ว

ศูนย์วิจัย EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีมีโอกาสปรับขึ้นสูงสุดอีกครั้ง คาดว่า จะขยับขึ้นไปสูงถึง 89.5–90.5% ต่อจีดีพี ภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 สอดคล้องกับตัวเลขของรัฐบาลที่คาดว่า จะทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง หลังการแพร่ระบาดของโอมิครอนเบาบางลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขยันกู้เงินมาแจก สร้างหนี้มหาศาลให้ลูกหลาน แต่กลับไม่คิดที่จะ “สร้างงาน” เพื่อ “สร้างรายได้” ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกปี ปีหน้าคนจนอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 ล้านคนก็เป็นไปได้นะครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”