“ปราบโกง” ไม่ใช่แค่ “พูดเจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทอง” ผลดัชนีชี้วัดความโปร่งใส ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564
จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้รับ 36 คะแนน และเป็นอันดับที่ 104 ของโลก
เท่ากับหล่นลงไป 6 ลำดับ
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 11 ประเทศ
เรียงลำดับชาติที่ได้รับคะแนนความโปร่งใสสูงสุด ไปจนถึงน้อยสุด อันดับ 1 สิงคโปร์ 85 คะแนน 2.มาเลเซีย 48 คะแนน 3.ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน 4.เวียดนาม 39 คะแนน 5.อินโดนีเซีย 38 คะแนน
6.ไทย 35 คะแนน 7.ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน 8.ลาว 30 คะแนน 9.เมียนมา 28 คะแนน 10.กัมพูชา 23 คะแนน ส่วนบรูไนไม่มีการระบุข้อมูลคะแนน
โดยฐานการประเมินมาจาก 9 แหล่งข้อมูล คือ 1.IMD WORLD การติดสินบนและการทุจริต 2.BF (IT) การปราบปรามทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด 3.EIU ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 4.GI การดำเนินการทางธุรกิจต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด 5.PERC ระดับการรับรู้การทุจริต กระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
6.PRS การใช้ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ของภาคการเมืองกับภาคธุรกิจ 7.WEF ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆมากน้อยเพียงใด 8.WJP พฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และ 9.V-DEM การทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม
...
จากดัชนีชี้วัดที่ออกมา ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ชี้ว่า ภาครัฐ ภาคการเมือง ยังเป็นตัวภาระของสังคมในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน
มาตรการต่างๆที่ภาครัฐออกมาไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง คือมีมาตรการ มีนโยบาย แต่ไม่ถูกปฏิบัติ ทำให้การแก้คอร์รัปชันยังมีอุปสรรคอยู่มาก
โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐให้สังคมร่วมตรวจสอบ
แต่ก็ยังเห็นปัจจัยบวก คือ ความตื่นตัวของภาคสังคมและภาคประชาชน
ยิ่งตอกย้ำด้วยชุดข้อมูลรายงาน “บทวิเคราะห์กฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม”
ของ กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน รายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา สรุปว่า แนวโน้มที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนต่ำลง มีทั้งสิ้น 5 ประการ ได้แก่
(1) ความสูญเปล่าในการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาล (Wastefulness of government spending)
(2) จริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Ethical behavior of firms)
(3) ต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องอาชญากรรมและความรุนแรง (Business costs of crime and violence)
(4) ต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องผู้ก่อการร้าย (Business costs of terrorism)
(5) ความเข้มแข็งของการคุ้มครองผู้ลงทุน (Strength of investor protection)
ขนาด นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. แฟนพันธ์แท้ “ลุงตู่” ยังตีแสกหน้าว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา วงจรอุบาทว์การทุจริตเลวร้ายกว่าเดิม จนบางคนพูดตายคาสภา ยังแก้ไม่ได้
เป็นไง 8 ปี กับผลงานงามไส้ ปราบโกงของ “ลุง”.
เพลิงสุริยะ