คนไทยจะตาสว่างกันได้หรือยังกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร แบบแกล้งโง่ เพื่อจะเสียค่าโง่ให้กับภาคเอกชน และประชาชนคนไทยก็คงไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรต่อไป

ถ้า บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็น บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ไม่แจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.

ว่ารัฐบาลไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลง เป็นการเปิดทางให้ “อัครา” กลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้ง หลังจากต้องยุติการดำเนินงานไปตามคำสั่งมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ตั้งแต่ปี 2560

จนมีการนำเรื่องขึ้นไปสู้กันในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัทคิงส์เกตฯ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “อัครา” กับรัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหาย 25,000 ล้านบาท จะมีการอ่านคำพิพากษา 31 ม.ค.นี้

ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลไทยมีสิทธิแพ้สูง

แม้เรื่องจะอยู่ในขั้นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันก็ตาม แต่ก็มีกระแสออกมาตลอดว่า เราอาจต้องเสียค่าโง่ด้วยเงื่อนไขที่จะทำ ให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์มากขึ้น

จากข้อความที่ “คิงส์เกต” เผยแพร่ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ว่า “รู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ (mining lease) ที่ยอดเยี่ยม 4 แปลง ที่จำเป็นในการเปิดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้งแล้ว”

สำหรับประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ประกอบด้วย ประทานบัตรเหมืองชาตรีใต้ 3 แปลง และเหมืองแร่ควอตซ์ 1 แปลง มีการระบุหมายเลขอ้างอิงของประทานบัตรทั้ง 4 แปลง ดังนี้คือ แปลง (1) 26910/15365 แปลง (2) 26911/15366 แปลง (3) 26912/15367 และแปลง (4) 25528/14714 แต่ละแปลงมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี นับจากวันที่ 31 ธ.ค.2564

...

นอกจากนี้ การขอต่อใบอนุญาตแปรรูปโลหกรรม (Metallurgical Processing Licence--MPL) ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลไทยแล้วเช่นกัน

เรียกว่ากรุยทางให้กันราบรื่นสะดวกโยธิน

มีคำชี้แจงจาก นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม

ยอมรับว่า คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ให้ความเห็นชอบให้ต่ออายุประทานบัตร ออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ 30 ธ.ค.2564 ถึง 29 ธ.ค.2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด

ยกข้ออ้างเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทย ให้มีวัตถุดิบ ทองคำและเงิน ทดแทนการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ และยกระดับรายได้

รวมถึงกำชับบริษัทให้ต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย

ผมไม่รู้ว่าเส้นสนกลใน การเจรจาต่อรองจะมีการยื่นหมูยื่นแมวอะไรกันบ้าง

แต่เรื่องนี้ทางพรรคฝ่ายค้าน ยกขึ้นมาเป็น 1 ในประเด็นที่จะใช้อภิปรายรัฐบาล ทั้งในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในสมัยประชุมหน้า

คงมีการขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังให้เราได้รู้บ้าง

อย่างน้อย นี่ก็ชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดบกพร่อง ที่ใช้อำนาจจนเหลิง ขาดความรอบคอบ.

เพลิงสุริยะ