“อาคม” ลงนามประกาศกระทรวงการคลัง ให้นายจ้าง-ลูกจ้าง หยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสม เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งวด ม.ค.-มิ.ย. 65 สืบเนื่องจากโควิด-19 โดยสถานภาพยังคงอยู่ มีผลตั้งแต่ 22 ม.ค.

วันที่ 21 ม.ค. 2565 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผย ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศ ณ วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565 มีเนื้อหารายละเอียดดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุด หรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ขยายระยะเวลาให้ลูกจ้างหรือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านฐานะการเงินจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2564 นั้น

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุน แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 สำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้

...

ข้อ 1 ให้ลูกจ้างหรือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบด้านฐานะการเงินจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือนมกราคม 2565 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนมิถุนายน 2565 โดยฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างที่ไม่ได้นำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบในช่วงนี้ ให้ถือว่าสถานภาพยังคงอยู่ และนับต่อเนื่องไปได้

ในกรณีนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามวรรคหนึ่ง หากลูกจ้างรายใดประสงค์จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็สามารถดำเนินการได้ โดยนายจ้างจะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่ลูกจ้างรายนั้นหรือไม่ก็ได้

ข้อ 2 การหยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สมาชิก โดยคะแนนเสียงที่ใช้เป็นมติที่ประชุมนั้นจะต้องเป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน หรือต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมหากไม่ได้กำหนดในข้อบังคับกองทุนและในกรณีที่ไม่สามารถจัดประชุมใหญ่สมาชิกได้ ให้กรรมการในคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ให้หยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราวสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประกอบด้วยนายจ้างหลายราย (Pooled Fund) ให้ใช้มติที่ประชุมของสมาชิกของนายจ้างรายนั้นๆ หรือมติคณะกรรมการกองทุนนายจ้างรายนั้นๆ เป็นเกณฑ์

ข้อ 3 ให้นายจ้างหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแจ้งการขอหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อนายทะเบียนพร้อมเอกสาร ดังนี้

(1) หนังสือรับรองจากนายจ้างซึ่งรับรองว่ามีปัญหาในการดำเนินกิจการอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนายจ้างรายนั้นๆ เป็นผู้ลงลายมือชื่อ และ

(2) รายงานการประชุมใหญ่สมาชิก หรือรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายงานว่า นายจ้างมีปัญหาในการดำเนินกิจการอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และมีปัญหาฐานะการเงินจริง และมีมติที่ระบุรายละเอียดว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะให้มีการหยุดหรือเลื่อนส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเป็นการชั่วคราวถึงเมื่อใด (ไม่เกินงวดนำส่งเงินของเดือนมิถุนายน 2565)

ข้อ 4 เมื่อลูกจ้างและนายจ้างจะส่งเงินสะสมและเงินสมทบตามข้อ 1 เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป ให้แจ้งนายทะเบียนทราบ

ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป.