เลขาฯ สมช. เผย วงศปก.ศบค.หามาตรการคุมเทสต์แอนด์โก บอกถ้าไม่ร่วมป้องกันโอกาสแพร่เชื้อสูงมาก จ่อขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป หลังจะสิ้นสุด ม.ค. นี้ เหตุตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง
เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 19 ม.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่าการประชุม ศปก.ศบค. วันนี้ (19 ม.ค.) จะประเมินภาพรวม มาตรการผ่อนคลายตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อาทิ การปรับพื้นที่สีให้ประชาชนมีความคล่องตัวขึ้น ซึ่งนายกฯ สั่งการตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังปีใหม่ ให้ประชาชนได้ประกอบอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการเทสต์แอนด์โก จะปรับเพิ่มเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่นั้น พล.อ.สุพจน์ ระบุว่า เทสต์แอนด์โกเงื่อนไขสำคัญ คือระยะเวลา 7 วัน เราจะต้องหาวิธีการควบคุมผู้ที่เดินทางเข้าประเทศให้ได้ เมื่อผ่าน 7 วันไปแล้วถือว่าปลอดภัย ย้ำว่าเมื่อเข้ามาครั้งแรกจะต้องตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR จากนั้นจะอยู่ในช่วงการควบคุมไว้สังเกต จะต้องมีระบบการติดตามว่าอยู่ที่ไหนแต่ไม่ใช่การกักตัว โดยวันนี้เราจะพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้รัดกุมมากขึ้น และมีข้อกำหนดชัดเจนและในวันที่ 5 และ 6 จะต้องตรวจหาเชื้อโดย RT-PCR ซ้ำ เมื่อปลอดภัยก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยได้ เมื่อถามถึงการพิจารณากรณีสถานบันเทิง ที่ขออนุญาตปรับรูปแบบเป็นร้านอาหาร พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า จากนี้จะมีการทยอยเปิดต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครและจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และเข้ารับการตรวจประเมินตามขั้นตอน
นอกจากนี้ พล.อ.สุพจน์ ยังกล่าวถึงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ว่า มีความจำเป็นต้องขยายออกไป เพราะเรามีความจำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมสถานการณ์ ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลที่ผ่านมา ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 6 พันคนต่อวัน เราอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อลดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ เมื่อถามถึง กรณีที่กลุ่มผู้ปกครองจำนวนหนึ่งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการตรวจโควิด- 19 ด้วย ATK และการบังคับสวมใส่หน้ากากในโรงเรียน มีความกังวลใจหรือไม่หากเปิดเรียนเต็มรูปแบบ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดและสำคัญมาก เพราะเราเห็นหลายประเทศทั่วโลกที่ติดเชื้อสูง แต่เราต้องดูศักยภาพ และลักษณะของสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไทยไม่ช่วยกันใส่หน้ากากอนามัย ไม่ช่วยกันฉีดวัคซีน ไม่ช่วยกันตรวจเชื้อ โอกาสการแพร่เชื้อจะสูงมาก และอยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลเอาใจใส่สุขภาพ ระบบสาธารณสุขต่อประชาชน และหากเกิดปัญหาจะโกลาหลมากการรองรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราไม่ช่วยกันสร้างความปลอดภัยต่อสถานที่ต่างๆ ก็จะกระทบต่อระบบสาธารณสุข และย้ำว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้รับแนวทางจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และทางโรงเรียนก็ได้พูดคุยกับผู้ปกครองหากมีข้อเสนอใด ก็สามารถประสานกระทรวงศึกษาธิการ มายังศปก.ศบค.ได้
...