โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เร่งเดินหน้าแก้หนี้ 8 กลุ่ม ตั้งเป้าปี 65 “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” พร้อมให้กำลังใจลูกหนี้ ใช้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาล วางแผนการเงินเพื่อปลดหนี้ให้สำเร็จ

วันที่ 4 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ผ่านเพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Cha-o-cha” ย้ำความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมให้ปัญหา “ปัญหาหนี้สินครัวเรือน” มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีจะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้ ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม 64 ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา โดยหวังจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกรัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษา และผู้ค้ำประกันกว่า 5 ล้านคนด้วย


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความก้าวหน้าของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการดำเนินการตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครอบคลุม 8 กลุ่มหนี้ ได้แก่

1) การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จาก “รายปี” เป็น “รายเดือน” เป็นชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ย “เท่ากันทุกเดือน” ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี การเริ่มชำระหนี้ ให้ผูกกับ “การมีงานทำ” ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัด “เงินต้น” ก่อน แล้วจึงนำมาตัด “ดอกเบี้ย” ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือ 2% ต่อปี ยกเลิกผู้ค้ำประกันตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ.2564 เป็นต้น

2) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ โดย ธปท.จะออกประกาศเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยให้ SFIs สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้โดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกลงโทษตามกฎหมาย ประกาศของ ธปท. และข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป

3) การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น โดยอัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระ 1 งวด และคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถาม กรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด คิดอัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม กำหนดค่างวดที่ถึงกำหนดชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้

4) การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ อาทิ การยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ การปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น การยกระดับระบบการตัดเงินเดือนของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น

การแก้ไขปัญหาหนี้ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัว และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้เงินกู้

หน่วยงานต้นสังกัดเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ อาทิ กำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกู้ได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อป้องกันการกู้ยืมนอกระบบ

5) การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ ล่าสุดกระทรวงการคลังได้ปรับลดเพดานเงินกู้สินเชื่อ PICO Finance ลงจาก 36% เหลือ 33% สำหรับลูกหนี้ที่วางหลักประกัน ล่าสุด 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ธปท.ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้สินระยะยาวเพิ่มเติม ด้วยการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว นอกจากนี้ ธปท. ลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย

6) การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการจัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อเป็น platform กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปกติมักมีเจ้าหนี้หลายราย ที่ผ่านมาช่วยเหลือแก้หนี้หลายหมื่นบัญชี ธปท.ยังจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ ได้ช่วยประชาชนรายย่อยมากกว่าสองแสนราย

7) การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและSMEs ผ่านโครงการ soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. ซึ่งมี SMEs จำนวนแสนกว่ารายได้รับความช่วยเหลือ

8) การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน (Thai Business Mediation Center: TBMC) เพื่อเป็นกลไกช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน และลดคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล โดยเน้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) เป็นหลัก ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

นายธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มองว่า กับดักหนี้ครัวเรือน (Debt Trap) ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข และยังเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ ซึ่งหากฐานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบางย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมภาพรวม นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจช่วยลูกหนี้รายย่อย หนี้ครีวเรือน ลด ปลดหนี้ ด้วยการเน้นออกแบบมาตรการมาเฉพาะรายกลุ่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอเป็นกำลังใจ เชื่อมั่นว่าทุกรายอยากลด ปลดหนี้ ขอเพียงให้มีความตั้งใจจริง มีวินัย และมีการวางแผนในการชำระคืนหนี้ที่ดี ไม่ก่อหนี้ใหม่ มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการปลดหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการคืนความสุขที่แท้จริง.

...