ดูจะเป็นความปลาบปลื้มใจของรัฐบาลเป็นที่สุด กับผลสำรวจความพึงพอใจประชาชน ต่อสารพัดโครงการที่รัฐเข็นออกมากระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะ “คนละครึ่ง” ที่ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นปลื้มคุยอวดผลงานกันไม่จบ

จากรายงานตัวเลขภาพรวมทั้ง 4 โครงการ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่ามีผู้ใช้สิทธิสะสมทั้ง 4 โครงการ รวม 41.5 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะสมทั้งสิ้น 254,281.7 ล้านบาท

ได้แก่ 1.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ 13.55 ล้านราย ยอดใช้จ่ายสะสม 24,010 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิ 1.51 ล้านราย ยอดการใช้จ่ายรวม 2,183.3 ล้านบาท

3.คนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ 26.35 ล้านราย จากผู้ได้รับสิทธิ 27.98 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 223,921.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 109,985.8 ล้านบาท

4.ยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิ 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิกว่า 4.9 แสนราย ยอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชน 3,827.4 ล้านบาท มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 3,064 ล้านบาท

จากมาตรการเทกระจาดอัดฉีดของรัฐบาล คนละครึ่ง ดูจะเป็นที่พึงพอใจของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมากที่สุด เพราะใช้จ่ายง่าย ลงไปถึงระดับรากหญ้าอยู่พอสมควร

จน ครม.รีบเปิดไฟเขียวคนละครึ่งเฟส 4 ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปีอย่างต่อเนื่อง

แต่การจะเข็นเศรษฐกิจไทยให้โตได้ 3.5-4.5 % ตามการคาดการณ์ของ สภาพัฒน์ หรือตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% นั้น

...

หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเล่นแต่มุกเก่าๆ อัดฉีดเงินหวังกระตุ้นแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ก็คงหืดขึ้นคอ

เพราะสิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงเริ่มจะเป็นจริง ตัวเลขการติดเชื้อโควิดขยับพุ่งขึ้นมาอีกรอบแล้ว

ถ้าเราต้องกลับไปล็อกดาวน์ หรือเวิร์กฟรอมโฮมกันอีกรอบ ก็คงพากันจบเห่

เนื่องจากโจทย์ใหญ่ของเรา คือภาคการท่องเที่ยว เครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญอีกตัวยังไม่สามารถจุดติดได้ เพราะพิษไวรัสกลายพันธุ์ยังไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะที่ประชาชนและกลุ่มเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบด้านรายได้ แล้วยังต้องแบกหนี้เพิ่มขึ้น แต่โลกกำลังเผชิญกับดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ถือเป็นประเด็นใหญ่ของทั้งโลก

วันนี้เศรษฐกิจบ้านเราฟื้นตัวแบบตัว K ที่คนทั้งประเทศไม่ได้ฟื้นไปด้วยกัน ยิ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของคน 2 กลุ่มมากขึ้น

คือ กลุ่มคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น มั่งคั่งมากขึ้นจากโอกาสในวิกฤติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ยังสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากตลาดทุน

กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมหาศาล ที่รายได้ลดลงจนถึงไม่มีงานทำ

นี่ยังไม่นับรวมวิกฤติปัญหาราคาหมู รวมถึงข้าวของเครื่องใช้จำเป็นอย่างอื่น ปรับราคาพุ่งสูงขึ้น ยิ่งทำให้ค่าครองชีพ ทั้งราคาอาหาร ต้นทุนการเดินทาง ขนส่ง ปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน

ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้แค่โปรยเงินเยียวยา เพื่อประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์จากรัฐบาลที่ชัดเจน

ว่าจะนำพาคนไทยทั้งประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้อย่างไร

จุดตายของรัฐบาลอยู่ที่ปากท้องประชาชน...

เพลิงสุริยะ