รองโฆษกรัฐบาลแจงแนวทางและความคืบหน้าแก้หนี้ กยศ. เตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ. เข้าสภาฯ 5 ม.ค.นี้ ช่วยลูกหนี้และผู้ค้ำประกันหลายล้านคนไม่ต้องถูกฟ้อง
วันที่ 30 ธ.ค. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งรัฐบาลถือเป็นวาระเร่งด่วน ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 เงินกู้ กยศ. มีหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 63% สูงที่สุดในช่วง 25 ปี ปัจจัยที่ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นจำนวนมาก มาจากรูปแบบการชำระเงินคืนไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้คืน ซึ่งบางช่วงเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น กยศ. จึงปรับรูปแบบการชำระหนี้ เพื่อลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้และกลายเป็นหนี้เสีย เพิ่มแผนการรับชำระหนี้ให้หลากหลาย ทำให้ผู้กู้สามารถเลือกแผนการชำระคืนให้เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง และเปิดให้ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จำนวนกว่า 1.7 ล้านคน ให้เข้ามาแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วแบบสมัครใจ ผ่านแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือผ่านเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้กู้ยืมช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับรูปแบบการชำระหนี้ใหม่ที่จัดให้แก่ผู้กู้ อาทิ
- การชำระหนี้คืนจากรายปีเป็นรายเดือน และขยายระยะเวลาการผ่อนเป็น 25 ปี จากเดิม 15 ปี
- ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ โดยจะตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงนำมาตัดดอกเบี้ย ทำให้ยอดหนี้ลดลง
- ลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากร้อยละ 18 ต่อปี เหลือร้อยละ 2 ต่อปี
- ยกเลิกผู้ค้ำประกัน นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป
- ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้
...
ในส่วนของช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ กยศ. ยังได้มอบของขวัญแก่ลูกหนี้ ด้วยการขยายเวลา 5 มาตรการ ออกไปถึง 30 มิ.ย. 2565 จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค. นี้ ประกอบด้วย
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% เป็น 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
- ลดเงินต้น 5% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
- ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
- ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
- ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังได้เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสาระของการแก้ไข เป็นการขยายโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียน/นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีกลไกให้ผู้กู้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้มากขึ้น อาทิ เลือกชำระเงินกู้ยืมคืนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระ ผู้กู้สามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน (มีผู้ค้ำประกันเฉพาะกรณีที่จำเป็น) จัดลำดับการตัดชำระเงิน โดยเรียงจาก เงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ปรับรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่นอาจเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี เป็นต้น คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรก ในวันที่ 5 ม.ค. 2565 เมื่อมีผลบังคับใช้ กยศ. จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้หรือเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกคำพิพากษาได้ เช่น การชะลอการฟ้องร้องและบังคับคดี หรือการชะลอการขายทอดตลาดสำหรับลูกหนี้ที่ติดคดีใกล้ขาดอายุความ
“หนี้ กยศ. เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและประกอบด้วยหลายมิติ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. ดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ ถือเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือให้ลูกหนี้เข้าถึงโอกาสการปรับโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้น ลดการเกิดหนี้เสีย ขณะที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ค้ำประกันที่มีปัญหาชำระหนี้ รวมจำนวนแล้วหลายล้านคนให้ไม่ต้องถูกฟ้องร้อง”