"เศรษฐพงค์" หนุนศึกษาผลกระทบควบรวม "True-DTAC" ชี้ต้องคุมราคาให้ปชช.เข้าถึงได้ แนะให้แก้ พ.ร.บ.กสทช. เปิดตลาดเสรี-ให้การจัดสรรคลื่นคล่องตัว ยืดหยุ่นมากกว่าการประมูลแบบดั้งเดิม เพื่อความธรรม ประชาชน-ประเทศได้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.64 ที่รัฐสภา พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายในญัตติด่วน เรื่องผลกระทบจากการควบรวมบริษัททรูกับดีแทคว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ตอนนี้การควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ True ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพื่อหาแนวทางที่จะร่วมมือกัน ซึ่งรูปแบบการร่วมมืออาจมีด้วยกันหลากหลายมิติ ซึ่งในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะธุรกิจโทรคมนาคมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่อัตราการบริโภคข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนของเรามีราว 35-40 % ต่อปี ทั้งนี้ด้วยบริการบรอดแบนด์ได้ถูกจัดให้เป็นบริการพื้นฐาน ที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยดิจิทัล จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมราคาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด ไม่ว่าจะมีผู้ให้บริการในตลาดกี่รายก็ตาม ดังนั้นเมื่อด้านหนึ่งผู้ให้บริการต้องลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ถูกควบคุมราคาการให้บริการ ทำให้ผู้ให้บริการพยายามหาทางออกที่เป็นไปได้ โดยในบางประเทศที่มีต้นทุนความถี่ที่ราคาสูงเกินไป จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจมีผลกระทบในการให้บริการบรอดแบนด์ เช่นมีการปรับเปลี่ยนมาให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์เข้ามาเป็นทางเลือก ที่ไม่ต้องมีการลงทุนภาระความถี่
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความพยายามลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงข่ายใหม่ๆ โดยมีโมเดลประเทศในอาเซียนที่ใช้โครงข่าย 5G ร่วมกันของ 2 ผู้ให้บริการ เช่นในสิงคโปร์ หรือกรณีของแคนาดาที่มีการควบรวมระหว่าง Shaw กับ Roger Communication หรือกรณีของสเปนที่มีการควบรวมระหว่าง Masmovil กับ Vodafone โดยสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง DTAC กับ True ถือว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือ "รากแห่งปัญหา" คือการประมูลที่เน้นราคาสูง รวมทั้งองค์กรกำกับดูแลที่ต้องเข้าใจบริบทของโทรคมนาคมที่เปลี่ยนไป
...
"การออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งคำนึงถึงการแข่งขันในการประมูล แต่ที่สำคัญมากกว่าคือต้องไม่ทำลายการแข่งขันของตลาดหลังการประมูล โดยหลักสากลที่มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ ได้มีการกำหนดว่าผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่ ไม่ควรมุ่งเน้นในเรื่องจำนวนเงินในการประมูลมากเกินไป ไม่ใช้การประมูลเป็นช่องในการหารายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมในอนาคต" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้สังคมรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่มากถึงการประมูลความถี่ ที่คิดว่าเหมือนการประมูลโดยทั่วไป โดยมองว่าหากการประมูลมีการแข่งขันไม่มาก ผู้จัดการประมูลจะมีความผิดฐานทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ทั้งๆที่หลักการประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่เรื่องการหารายได้เข้ารัฐเป็นหลัก ซึ่งการมองเรื่องรายได้จากการประมูลเป็นเรื่องหลัก อาจทำให้เกิดผลเสียตามมา เช่น การประมูลทีวีดิจิทัลที่สร้างการตื่นตัวของธุรกิจในระยะเริ่มต้น แต่หลังจากนั้นด้วยต้นทุนจากการประมูล จึงทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้จนต้องมีการคืนช่องและเลิกกิจการ ต่อมาประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แต่สุดท้ายก็นำมาซึ่งการคืนคลื่นความถี่ของผู้ชนะ
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า เราจะเห็นได้ว่ารากของปัญหาที่แท้จริงนั้น มาจากวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลเพียงอย่างเดียว ใน พ.ร.บ.กสทช.2553 ถึงแม้จะมีการแก้ไขไปแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่เกิดความชัดเจน ซึ่งเราควรทำให้เกิดความชัดเจนในหลักการสำคัญให้สอดคล้องกับบริบทสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น ควรทำให้เกิดความคล่องตัวในการจัดสรรความถี่ เช่นเดียวกับที่มีการกำหนดใน พ.ร.บ.กสทช.2543 และต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันมีกลไกการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ๆเกิดขึ้น ที่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าการประมูลความถี่แบบดั้งเดิม รวมถึงการดำเนินการที่มีความยืดหยุ่นในการนำความถี่ไปประกอบธุรกิจ แล้วปรากฏว่าการให้บริการไม่เป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจ ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ชนะการประมูลมีทางเลือกอื่นๆ มากกว่ายกเลิกหรือคืนความถี่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดให้ พ.ร.บ.กสทช.อนุญาตให้สิทธิการใช้ความถี่สามารถมีตลาดรองหรือ (Secondary Market) ได้
"กรณีที่เกิดขึ้นคือการส่งสัญญาณที่ทำให้สภาฯ ต้องพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับการบังคับใช้ในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมยุคใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่กำหนดให้ใช้การประมูลคลื่นความถี่ และใช้ราคาเป็นตัวกำหนด แม้ว่าการประมูลจะเป็นวิธีตามหลักสากล แต่ควรต้องปรับให้สอดคล้องสภาพปัจจุบัน รวมถึงแก้ไขรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่าธุรกิจบริการแพร่ภาพและเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ โอเวอร์ เดอะ ท็อป มีบทบาทในกิจการโทรคมนาคมมาก เช่น กูเกิ้ล ไลน์ ที่ไม่อยู่ใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปัจจุบัน ถือเป็นรอยรั่ว อีกทั้งในอนาคตมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงมาก และเกิดการควบรวมกิจการเหมือนหลายประเทศ เช่น สเปน สิงคโปร์ ที่พบการควบรวมกิจการของธุรกิจ โดย พ.ร.บ.กสทช.ปี 2553 ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทันกับนวัตกรรมสื่อสารใหม่ๆ ดังนั้นควรปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ และเกิดการแข่งขันแท้จริงในตลาดกิจการโทรคมนาคม
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า กับระบบโอเวอร์ เดอะ ท็อป ที่ก้าวหน้า พบว่าปัจจุบันมีบริษัทเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ คือ สตาร์ลิงก์ สามารถให้บริการกิจการโทรคมนาคมได้ทั่วโลก โดยไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ของไทย และในอนาคตจะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ดังนั้นการประมูลความถี่ที่ใช้มา 10 ปี ไม่สามารถใช้ได้ โดยมีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่ยึดราคาไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นควรแก้ไขเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม และเสรีได้ประโยชน์ประชาชน