“ศักดิ์สยาม” รมว.คมนาคม ตรวจการบ้าน รฟท.เร่งสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 พร้อมเดินหน้าระยะที่ 2 ช่วง "ขอนแก่น-หนองคาย" หวังเชื่อมโครงข่ายรถไฟทางคู่ภาคอีสานตอนบน เพื่อเชื่อมโลจิสติกส์กับสปป.ลาว อย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 3 ธ.ค. 64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานผลการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และการเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ในช่วงขอนแก่น-หนองคาย รวมถึงการติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ สายเหนืออีสาน ซึ่งในภาพรวมพบว่า โครงการทางคู่ ระยะที่ 1 มีผลการก่อสร้างเร็วกว่าแผนงาน จำนวน 4 สัญญา ประกอบด้วย โครงการฯ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ คืบหน้า 62.46%, โครงการฯ ช่วงนครปฐม-หัวหิน คืบหน้า 93.99 %, โครงการฯ ช่วงนครปฐม-หัวหิน คืบหน้า 90.11%

นอกจากนั้นให้ รฟท.กำกับดูแลให้ผู้รับจ้าง เร่งรัดการก่อสร้าง สัญญาที่มีผลการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน ให้มีผลการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานโดยเร็ว ประกอบด้วยช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ คืบหน้า 69.88%, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ คืบหน้า 92.10%, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ คืบหน้า 88.82%, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ คืบหน้า 99.94%, ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คืบหน้า 82.82%, ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คืบหน้า 82.35%

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้สั่งการให้ รฟท.เร่งรัดการนำเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งโครงการังกล่าวหากมีการดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟทางคู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้มีความสมบูรณ์และสามารถเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์กับ สปป.ลาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ให้ รฟท.ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบการดำเนินงานและประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกับประสบการณ์ที่มีปัญหาในอดีตมาปรับปรุงให้การนำเสนอโครงการเกิดความสมบูรณ์

...

ขณะเดียวให้ รฟท.รวบรวมข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าจากการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน ว่ามีผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างไร และเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตามหากโครงการ ก่อสร้างหากขาดแคลนแรงงานก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ของ รฟท. ให้ รฟท.เร่งประสานขอข้อมูลแรงงานในระบบฐานข้อมูลของกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์เพดานหนี้สาธารณะของประเทศขณะนี้ และ รฟท.ก็ต้องมีโครงการที่จะต้องดำเนินการในอีกหลายๆ โครงการ ดังนั้นขอให้ รฟท.ศึกษาแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับการดำเนินโครงการของ รฟท. เพื่อลดภาระการพึ่งพางบประมาณของประเทศ เช่น เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP หรือการศึกษาแนวทางการทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFF ของ กทพ. เพื่อให้สามารถแปลงแผนงานไปสู่การปฏิบัติจริงได้.