รมว.แรงงาน เผย 3 แนวทาง เตรียมเยียวยานักร้อง นักดนตรี ผู้ประกอบการสถานบันเทิง เสนอปลดล็อกการแสดงกลางแจ้งที่ไม่มีการเปิดหน้ากากและดื่มแอลกอฮอล์ ช่วง ธ.ค. รับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

วันที่ 29 พ.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงหลังประชุมร่วมกับตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเวนต์ ตัวแทนจากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงทร้านอาหาร สมาคม ชมรม เครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางให้การช่วยเหลือเยียวยาจากการเลื่อนเปิดบริการจาก 1 ธ.ค. 2564 ไปเป็นวันที่ 16 ม.ค. 2565 โดยมี นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ร่วมรับฟังและพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอาชีพอิสระได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดแสดงมาเป็นเวลานาน

นายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานบันเทิงกลางคืน จากผลกระทบโควิด-19 จึงสั่งการในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ให้ตนในฐานะ รมว.แรงงาน ดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง นักดนตรี กลุ่มคนบันเทิงกลางคืน จึงต้องหารือร่วมกับสภาพัฒน์เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม ให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและครอบคลุมอย่างเร็วที่สุดต่อไป

...

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี

กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50% และจ่ายอีก 5,000 บาทจากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน)

กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง ส่วนตัวเลขกลุ่มนี้จะมีเท่าไร จะรวบรวมให้ชัดเจนมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค. 2564

“ร้านอาหารพวกผับ บาร์ อาจยังเปิดไม่ได้ในช่วงนี้ จึงต้องมีการเยียวยา แต่กลุ่มที่ไม่ใช่สถานบันเทิง พวกการแสดงกลางแจ้ง นักร้อง นักดนตรีพื้นเมือง ที่ไม่ใช่กลุ่มผับ บาร์ ไม่มีการเปิดหน้ากากดื่มแอลกอฮอล์ ได้เรียกร้องให้เปิดแสดงในเดือน ธ.ค. อาจจะสามารถเปิดได้ตามที่เรียกร้อง จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ศบค. ซึ่งนายกรัฐมนตรี ห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือทุกกลุ่มสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้องกระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน”

ทางด้าน นายธเนศ สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรีอาชีพอิสระ กล่าวว่า อาชีพนักดนตรีที่มีสังกัด หรือมีค่ายเพลงดูแล จะอยู่ในระบบประกันสังคม แต่นักดนตรีอิสระ นักแสดงตลก นักดนตรีท้องถิ่นหรือพื้นเมือง จะไม่มีสังกัด จึงไม่มีอะไรเป็นสิ่งรับรองอาชีพ เวลากรอกข้อมูลอาชีพจะใช้คำว่าอื่นๆ หรือรับจ้าง ยังมีนักดนตรีกลางแจ้ง หรือพวกแบ็กอัพ นักดนตรีที่รับเล่นในงานอีเวนต์ต่างๆ งานแต่งงาน บางคนอาศัยแสดงตามงานวัด ต้องการให้ปรับเปลี่ยนให้เปิดการแสดงได้ในช่วงปีใหม่ ซึ่งกระทรวงได้รับไปพิจารณารวมทั้งการเยียวยาคนกลุ่มนี้คาดว่ามีหลายแสนคน จะต้องเข้าระบบมาตรา 40 เพื่อรับการเยียวยา โดยจะมีการไปรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมอีกครั้ง

ในส่วนของผับ บาร์ ที่ให้เลื่อนไปเปิด 16 ม.ค. 2565 มองว่าควรจะให้ร้านที่มีมาตรฐานสามารถเปิดได้ เพราะปิดมานานต่อเนื่อง 8 เดือนแล้ว เฉพาะตัวเลขนักดนตรีจากสมาคมดนตรีใน จ.เชียงใหม่ มีร้านอาหารผับบาร์กว่า 10,000 ร้าน เป็นผับบาร์ 2,000 ร้าน สร้างรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ถ้ารวมในภาคอื่นๆ ธุรกิจบันเทิงจะมีรายได้ปีละเป็นแสนล้านบาท แต่ก็ถูกร้านเล็กๆ ที่ไม่มีการจดทะเบียนถูกต้องทำให้ล้มคว่ำถูกปิดเหมือนกันหมด ถ้าปล่อยให้กลุ่มมาตรฐานทำงานได้ในช่วงปลายปีแบบมีเงื่อนไข จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้มาก.