“อนุทิน” จัด 3 สถานที่ สถานีกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.ศรีธัญญา ให้บริการกลุ่มรอวัคซีนเอกชน เลือกวัคซีน mRNA ได้ตามต้องการ ชี้ ควรเข้ามารับวัคซีนให้เร็วที่สุด

วันที่ 25 พ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเดินหน้าให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มที่ยังรอวัคซีนจากภาคเอกชน ว่า เรื่องของวัคซีนโควิด-19 ยิ่งฉีดได้เร็วก็ยิ่งดี วัคซีนที่รัฐจัดหาไว้ให้ก็มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ แต่หลายคนที่จองวัคซีนไว้กับเอกชนแล้วยังไม่มีความชัดเจน ก็ต้องรอ ทั้งที่ความจริงสามารถมารับบริการได้แล้ว จึงเชิญชวนให้มารับวัคซีน ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีวัคซีนแบบ mRNA มาบริการแล้ว และเพื่ออำนวยความสะดวก ได้สั่งการให้กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค ไปจนถึงกรมสุขภาพจิต จัดสถานที่ไว้ฉีดประชาชนที่รอวัคซีน ซึ่งภาครัฐก็จะให้บริการวัคซีน mRNA ตามที่ท่านต้องการ สำหรับสถานที่ที่เตรียมไว้คือ ศูนย์ให้บริการสถานีกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.ศรีธัญญา

“ทุกคนมีสิทธิ์ ควรเข้ามารับวัคซีนให้เร็วที่สุด ซึ่ง สธ. ได้เร่งให้ทุกแห่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ยังไม่ได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ เด็ก และขยายในแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ขณะนี้ไทยมีวัคซีนที่เพียงพอกับคนไทยและคนที่อาศัยในประเทศทุกคน”

จากนั้น นายอนุทิน กล่าวถึงยอดการให้บริการวัคซีนภาพรวม ระบุว่า สิ้นเดือน พ.ย. 2564 เราจะให้บริการไปถึงตัวเลข 100 ล้านโดส เท่ากับผู้มีสิทธิ์ได้รับวัคซีน 47 ล้านคน ได้รับการฉีดแล้ว จะเหลืออีกประมาณ 3 ล้านคน ที่ต้องเร่งเก็บให้หมด ขณะที่ในปีหน้า ประเทศไทยจะมีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เข้ามาอีก 30 ล้านโดส และมีวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) อีก 60 ล้านโดส เป็นเข็มบูสเตอร์ เราน่าจะมีวัคซีนเพียงพอกับความต้องการแล้ว แต่ก็ไม่ลืมที่จะหาข้อมูลและปรับเปลี่ยนแผนการอยู่ตลอดเพื่อให้ทันกับสถานการณ์

...

ส่วนในเรื่องของยานั้น ล่าสุดบรรลุสัญญาซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ไปแล้ว 5 หมื่นคอร์ส ประมาณ 2 ล้านเม็ด จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการรักษาพยาบาล หลังจากที่เรามียาอย่างฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อยู่ ขณะนี้กำลังเสนอจัดหายาแพกซ์โลวิด (PAXLOVID) เข้ามาด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์

“แต่สิ่งที่สำคัญคือความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ยิ่งไม่ประมาท ประเทศชาติก็ยิ่งจะปลอดภัย ขอให้รักมาตรการ Universal Prevention ยิ่งมาบวกกับอัตราการได้รับวัคซีนที่มากขึ้นทุกวัน มียอดการติดเชื้อ แต่การป่วยน้อยลง เสียชีวิตน้อยลง ระบบสาธารณสุขไทยก็น่าจะรับไหว”