ฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ จับมือหอการค้า เดินหน้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที 13 พร้อมรับข้อเสนอเอกชน 5 ด้าน การเยียวยา การท่องเที่ยว การเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน

วันที่ 21 พ.ย. 64 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จับมือ รวมใจ พาไทยรอด” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 โดยแนวคิดหลักของการสัมมนาในปีนี้คือ “Connect the Dots DESIGN THE FUTURE รวมพลัง สร้างสรรค์ อนาคต” การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นแรงในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คณะกรรมการหอการค้าไทย คณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับมอบสรุปผลการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 จาก นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จับมือ รวมใจ พาไทยรอด” ความตอนหนึ่งว่า

...

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้วยังกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย การแก้ปัญหาคือ หามาตรการที่เหมาะสม ทั้งงบประมาณ และกฎหมายที่สอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตปกติได้อีกครั้ง

รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชน เสริมสภาพคล่องทางการเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เน้นการเข้าถึงเงินทุนและสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการรายย่อย ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ติดลบเพียง 0.3% ซึ่งติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการไว้มาก และคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตจากการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างสมดุลตามมาตรการสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพลิกโฉมประเทศไทยด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีกำลังคนที่มีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาส สร้างความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า หอการค้าทั่วประเทศเป็นภาคีสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับตัวเองและประเทศ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะช่วยต่อยอด ยกระดับการพัฒนาในทุกมิติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับโลก ซึ่งรัฐยังสนับสนุนกระบวนการ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ" ผ่านกลไกหลักคือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในการรับฟังความคิดเห็นและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

เอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนวทางและร่วมจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมุ่งสร้างความแข็งแกร่งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจลงไปในระดับพื้นที่ 2.การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ ในยุค Next Normal ด้วยการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามกระบวนการเข้าเมืองวิถีใหม่ 3.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ การขยายเส้นทางคมนาคมและระบบขนส่งโลจิสติกส์ ที่จะเชื่อมทั่วทุกภูมิภาคให้ถึงกันอย่างไร้รอยต่อ 4.การบริหารจัดการน้ำ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำต้นทุนและพัฒนาระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตร การลงทุน และอุปโภคบริโภค 5.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และ 6.การพัฒนากำลังคนและคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

รัฐบาลยังตระหนักถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงการทำงาน ทั้งจากบนลงล่าง (Top-Down) และล่างขึ้นบน (Bottom-Up) คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ โดยอาศัยกลไกการบริหารงานในระดับภูมิภาค ทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไปจนถึงการกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยปกครองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ความสามัคคีของคนไทยด้วยกัน โดยความเชื่อมั่นว่าไทยทำได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง จะช่วยพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นภารกิจ โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ พัฒนาต่อยอดทางการค้าโดยการนำนวัตกรรมและกลไกใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ สร้างความปลอดภัย กำลังเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 มั่นใจเศรษฐกิจไทยทั้งปีไม่ติดลบ และทุกอย่างกำลังทยอยดีขึ้น ส่วนในปีหน้าต้องดูเป็นรายไตรมาส ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้แล้ว.