กลับจากเดินทางไปร่วมประชุม COP26 (Conference of Parties) ภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อช่วงวันที่ 31 ต.ค.64 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งจากสื่อ และโลกโซเชียลถึงท่าที และภาษากาย รวมถึงการขึ้นพูดบนเวทีที่เต็มไปด้วยผู้นำจากชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจด้วยภาษาไทยแบบไม่มีวรรคตอน ตะกุกตะกัก แถมยังมีข้อความบางตอนคัดลอก “สปีช” (speech:สุนทรพจน์) ของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้นำสหรัฐฯด้วย

ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ของมหาวิทยาลัยเกริก ให้ความเห็นต่อบุคลิกภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวทีโลกดังกล่าวว่า ช่างแตกต่างจากเวลาที่อยู่ในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง!

“ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่าเวลาอยู่ในประเทศไทย ดูจะฮึกเหิม มั่นอกมั่นใจ โอ้โห...เกินร้อยด้วยซ้ำ แต่พอเวลาเดินทางไปต่างประเทศ ท่านจะมีลักษณะเงอะๆงะๆ แสดงความไม่มั่นใจ...

...

เวลาจะเดินจะยิ้ม ยังยิ้มไม่ได้เต็มที่ กลับฝืนๆเขินๆ เดินเหินอะไร ก็ไม่รู้ที่รู้ทาง เดินผิดๆถูกๆ กลับไปกลับมา ไม่รู้ตำแหน่งที่ตั้งของตัว แล้วท่านก็ไม่รู้ด้วยว่าคนอื่นๆ ในเวทีโลก เขาทักทายกันด้วยวิธีใดในลักษณะของ New normal”

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา และการสื่อสารการเมืองจากมหาวิทยาลัยเกริก ยังกล่าวต่อว่า เขาเอากำปั้นกัน แต่ท่านก็จะไปจับไม้จับมือเขา รวมๆแล้วบุคลิกภาพไม่ค่อยสง่างามในเวทีโลกเหมือนผู้นำชาติอื่น

“ดูเหมือนเวลาเดินทางไปต่างประเทศ ท่านจะขาดความรู้สึกของการเป็นผู้นำ หรือว่าเวลาไปเจอผู้นำคนอื่นแล้ว บดบังรัศมีท่าน ทำให้ท่านงง ทำอะไรไม่ค่อยถูกหรือเปล่า?!”

ดร.นันทนา วิเคราะห์บุคลิกภาพของบุคคลในเชิงจิตวิทยาให้ฟังว่า เวลาอยู่กับคนไทย ยังไงคนไทยก็ด้อยกว่า ท่านสามารถจัดการได้ โดยเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าสื่อ ท่านอยากจะขว้างปาอะไรใส่ หรือพูดอะไรแรงๆท่านก็มั่นใจ

“แต่พอเวลาไปปรากฏตัวต่อหน้าผู้นำโลก ความรู้สึกว่าท่านด้อยกว่า น้อยกว่า สู้เขาไม่ได้ มันก็เลยทำอะไรขัดๆฝืนๆไม่เต็มที่...ไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก”

ความไม่มั่นใจนี้อาจเกิดจากการขึ้นมาเป็นผู้นำแบบแปลกๆ ไม่ได้ขึ้นมาตามกระบวนการประชาธิปไตย หรือการไม่ค่อยได้ไปต่างประเทศในช่วงโควิดก็ได้

ส่วนเรื่องกล่าวสปีชเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ปัญหา แม้เวทีโลกจะยึดถือภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าอาจนำไปตีความผิดๆก็สามารถใช้ภาษาประจำชาติได้ “เราก็น่าจะทราบดีว่า ถ้าท่านไปใช้ภาษาอังกฤษแล้วสื่อสารบนเวทีในแบบของท่าน ต่างชาติคงไม่เข้าใจ”

สุดท้ายที่พูดกันมากว่าไปคัดลอกสุนทรพจน์คนอื่นมาน่ะ ดร.นันทนา เข้าใจว่า นั่นเป็นสุนทรพจน์ที่มีคนร่างให้ แล้วก็ร่างให้ท่านเพื่อให้ปล่อยวรรคทองนี้ออกมาตอนจบ ซึ่งไปซ้ำกับบัน คี มูน และ บารัค โอบามา

“ตามหลัก เราไม่ควรใช้ข้อความใดๆซ้ำกันโดยไม่อ้างอิง ถ้าท่านจะพูดซ้ำก็ต้องอ้างอิงว่าเอาคำพูดใครมา แต่นี่ท่านไม่อ้างอิง ถือเป็นการลอกข้อสอบ...มันอาจจะดูเก๋ ดูเท่ แต่ทำไม่ได้ในเวทีระดับนานาชาติ”

เมื่อมีผู้ถามว่า ยังมีการเอาไปโพสต์ซ้ำในเพจไทยคู่ฟ้าด้วย ดร.นันทนาหัวเราะก่อนจะตอบว่า คนเขียนคงไม่อยากให้ท่านรู้ว่าเขาไปลอกคนอื่นมา แล้วก็ทำให้ดูว่าพูดไปแล้ว ผู้คนคงปลาบปลื้มว่าท่านคิดได้อย่างไร คำสวยหรูเช่นนี้

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านนายกฯโดนทีมงาน “แกง” หลายครั้งแล้วที่ท่านพูดอะไรออกไปแล้ว คนสงสัยว่าจริงเหรอ?! เช่น ให้เยาวชนไปอ่านหนังสือ Animal Farm ที่เนื้อหาจริงๆล้อเลียน และเสียดสีเผด็จการ...

เข้าใจว่า ท่านโดนทีมงานท่านแกงเองแหละ ตรงนี้ถือว่า อันตรายที่มีทีมงานประเภท “ปรารถนาดี แต่ประสงค์ร้าย”แล้วใส่ข้อมูลอะไรให้โดยไม่ได้ตรวจสอบ ถึงขนาดไปแกงท่านบนเวทีโลก”

ครั้งหน้า อย่ายอมให้ใคร “แกง” อีกละกันนะจ๊ะ...ท่านนายกฯ.

แสงทิพย์ ยิ้มละมัย