“พล.อ.ประวิตร” กำชับเร่งใช้เทคโนโลยี ยกระดับความเป็นอยู่ประชาชน เผยปีนี้มี 15 ผู้พัฒนาเมือง ได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ขอทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนประเทศเพราะเป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (5 พ.ย. 2564) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน โดยมีการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย

1) สามย่านสมาร์ทซิตี้
2) ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ
3) เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์
4) แม่เมาะเมืองอัจฉริยะ
5) ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ
6) เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4
7) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม
8) เมืองอัจฉริยะมักกะสันเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
9) การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด
10) เทศบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน
11) เมืองศรีตรัง
12) ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน
13) ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน
14) แสนสุขสมาร์ทซิตี้
15) โครงการนครสวรรค์สมาร์ทซิตี้

...

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะและกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะจากบีโอไอต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 50 พื้นที่ทั่วประเทศ และความก้าวหน้าการดำเนินงานรายพื้นที่ รวมถึง ผลการจัดกิจกรรม Thailand Smart City Week 2020 การคัดเลือก 30 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศเป็นนักส่งเสริมดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (The Smart City Ambassadors) และการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) พร้อมมอบหมาย DEPA จัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นพิจารณา (ร่าง) แผนงานบูรณาการเมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่ DEPA เสนอเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนด้านงบประมาณสำหรับองค์กรปกครอง ทั้งระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงแผนงานโครงการและบูรณาการด้านงบประมาณสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบจะเกิดกลไกด้านงบประมาณในลักษณะบูรณาการที่จะช่วยยกระดับเมืองสู่ความทันสมัยและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง

ในการประชุมวันนี้ พลเอกประวิตร กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือและองค์ความรู้ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ และพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมกับการพัฒนาประเทศตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ พื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และขอแสดงความยินดีกับเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยทั้ง 15 เมืองในปีนี้ โดยในช่วงท้าย ขอให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนและบริหารการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทุกกระทรวงต้องช่วยกันผลักดันเพราะเป็นวาระแห่งชาติ.