“รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลพิจารณ์” จัดหนัก “ประยุทธ์” ไฟเขียวทุนใหญ่ เลื่อนจ่ายค่าสิทธิ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ส่อพฤติกรรมจับประชาชนเป็นตัวประกัน เตรียมเรียกหน่วยงานแจ้ง 1 พ.ย. นี้

วันที่ 30 ต.ค. 64 ห้องนวมทอง ไพรวัลย์ อาคารอนาคตใหม่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณี ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินตามเงื่อนไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งก็คือ บจก.คู่สัญญา Asia Era One ที่ถือหุ้น 70% โดยกลุ่ม CP เพื่อเป็นการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน หรือ Airport Rail Link (ARL) มูลค่า 10,671 ล้านบาท

โดยนายพิจารณ์ ระบุว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ ด้วยผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเอาประชาชนเป็นตัวประกัน เพราะจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. อ้างชัดเจนว่า หากเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถรับโอน ARL จะทำให้ต้องหยุดให้บริการประชาชน เพราะ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้เตรียมคนและงบประมาณ เพราะ รฟท. เชื่อมั่นว่า เมื่อส่งมอบให้บริษัทคู่สัญญาแล้วจะเดินรถได้ตามเงื่อนไขสัญญาแน่นอน อีกทั้งมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ หรือ MOU ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. หรือ 1 วัน ให้หลังจากการออกมติครม. และ ให้ Asia Era One ได้จ่ายค่าสิทธิเพียง 10% หรือ ประมาณ 1,067ล้าน จากเดิมที่ต้องจ่าย 10,671ล้านในครั้งเดียว ทั้งที่เป็นที่ชัดเจนว่าเอกชนคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไข แต่รัฐยังเปิดโอกาสให้เดินรถได้โดยชำระเงินเพียง 10 %

นายพิจารณ์ ย้ำว่า สำหรับโครงการนี้ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ครั้งแรกที่ พล.อ. ประยุทธ์ หยิบยื่นข้อเสนอพิเศษให้ โดยพบความผิดปกติตั้งแต่ก่อนการยื่นข้อเสนอ หรือก่อนการประมูล เช่น รูปแบบการประมูล โดยเอาส่วนของการก่อสร้างและเดินรถไฟความเร็วสูง พ่วงรวมกับการพัฒนาพื้นที่ดินมักกะสันและศรีราชา ทำให้เอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ ต้องมีความเชี่ยวชาญถึง 3 ด้าน ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา การเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ จึงส่งผลให้จากผู้ซื้อซองประมูล 31 ราย เหลือเพียง 2 กลุ่มทุน ส่งผลให้การแข่งขันลดลงและรัฐได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นแน่นอน

...

จึงอยากให้ประชาชน จับตา 4 ประเด็นหลัก

1. โครงการฯ มีความผิดปกติตั้งแต่ขั้นก่อนการเริ่มประมูล เห็นได้จากการกำหนด รูปแบบการประมูลเพื่อให้แน่ใจว่า เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิในการเข้าบริหารที่ดินมักกะสัน 140ไร่, การกำหนดค่าสิทธิในการบริหาร ARL เรียกได้ว่าเป็นการผลักภาระให้กระทรวงคลัง รับผิดชอบหนี้ 22,000ล้านบาท ในขณะที่เอกชนคู่สัญญาที่ชนะการประมูล จะได้รับสิทธิ 50ปี ด้วยราคา 1 ใน 3 ของการลงทุนที่รัฐใส่ไปแล้ว

2.หลังเปิดซองประมูล ได้รับผู้ชนะแล้ว กินเวลาเกือบปีกว่าที่จะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุน แล้วก็ปรากฏ การแก้ไขสัญญาแบบ ลด แลก แจก แถม ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการลดค่าปรับต่างๆ โดยเฉพาะค่าปรับ 3 ล้านบาทต่อวัน หากไม่ชำระค่าสิทธิ ARL 10,671ล้านบาท ตามกำหนด เป็นไม่มีค่าปรับ

3.หน่วยงานรัฐมีความพยายามปกปิดข้อมูล เพราะตั้งแต่การประชุมของ บอร์ด EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ต.ค. แม้จะมีการเผยแพร่หัวข้อการประชุมใน Website ของ EEC แต่ไม่ปรากฏหัวข้อเรื่องข้อเรียกร้อง หรือข้อหารือของเอกชนคู่สัญญาให้เห็น จึงเป็นความตั้งใจปกปิดว่าวันนั้นมีการประชุมอะไร และยังใน ครม. ยังปกปิดข้อเรียกร้องของเอกชนว่า หารือด้วยข้อเรียกร้องอย่างไร ก็ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณะได้รับรู้ บอกแต่เพียงเหตุว่าได้รับผลกระทบจากโควิดต้องได้รับการเยียวยา

4. เจตนาที่จะใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เนื่องจาก ไม่พบความพยายามของภาครัฐที่จะหาทางออกก่อนครบกรอบสัญญา 24 ต.ค. ซึ่งตนไม่คิดว่าจะไม่มีการพูดคุยนอกรอบก่อนการประชุม วันที่ 4 ต.ค. โดยประธานบอร์ด EEC ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะเจรจาล่วงหน้า เพื่ออย่างน้อย ก็ให้ รฟท. ได้หาทางรับมือ ในการเดินรถต่อไปได้ แต่ก็ไม่ทำอะไร สุดท้ายรอให้ครบกรอบเวลา ทำเสียว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยืดเวลาการชำระเงินให้เอกชน เพื่อให้การบริการไม่หยุดชะงัก จึงต้องเซ็น MOU

โดยในวันจันทร์ที่ 1 พ.ย. นี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นประธาน จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ ส่วนตนเองจะยื่นขอเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมเรียกร้องไปยัง พลเอกประยุทธ์ ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ยืนยันทางพรรคไม่ได้รังเกียจทุนใหญ่ แต่การแข่งขันทางธุรกิจต้องอยู่บนกติกาที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เหมาะสมกับทุกฝ่ายและเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง