ที่ประชุม ครม.ไฟเขียวให้แก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ของกลุ่มซีพีอย่างสะดวกโยธิน
ยอมให้แก้ไขสัญญาร่วมทุน ที่กำหนดว่ากลุ่มซีพีต้องชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์รถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท
ภายในเส้นตายวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา!!
แต่บริษัทเอเชียเอราวัน ซึ่งกลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่ยังไม่พร้อมจ่ายค่าโอนกรรมสิทธิ์ 10,671 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับรัฐบาล
อ้างว่าวิกฤติโควิดระบาดทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลงเหลือ 1-2 หมื่นคนต่อวัน จากเดิม 7-8 หมื่นคนต่อวัน
ผลกระทบจากโควิดระบาดทำให้ กลุ่มซีพีไม่สามารถชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท ตามกำหนดเส้นตาย
จึงขอผ่อนชำระเป็น 10 งวด ในเวลา 10 ปี
โดยกลุ่มซีพียอมจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐบาล 10 เปอร์เซ็นต์
พูดง่ายๆ ขอยกเลิกสัญญาเดิมที่ต้องจ่ายก้อนเดียวจบ เปลี่ยนเป็นทยอยผ่อนจ่ายระยะยาว 10 ปี
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มซีพีถูกเสนอที่ประชุม ครม.ตัดสินใจ ก่อนเส้นตายไม่กี่วัน
ที่ประชุม ครม.พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาที่กลุ่มซีพีเซ็นตกลงไว้เดิม
อ้างว่าหากไม่รีบแก้ไขสัญญาร่วมทุน อาจส่งผลให้รถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต้องหยุดบริการ
จะเกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรง
อ้างว่า ถ้าไม่แก้ไขสัญญาตามที่กลุ่มซีพีเสนอมา อาจส่งผลให้ รฟท.ผู้บริหารรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ต้องแบกภาระขาดทุนอีกก้อนโต
อ้างว่า ถ้าไม่ยอมแก้ไขสัญญาอาจส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มซีพีเป็นผู้ร่วมทุน
แต่เพื่อไม่ให้ปากหอยปากปูนินทาที่ประชุม ครม.จึงขอให้กลุ่มซีพีผ่อนชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์ 10,671 ล้านบาท จาก 10 งวด เวลา 10 ปี เป็น 6 งวด ระยะเวลา 6 ปี
...
โดยให้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับตัวแทนฝ่ายเอกชนเจรจารายละเอียดแก้ไขสัญญาให้เสร็จสิ้นใน 3 เดือน
แล้วให้เสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบอีกครั้ง เป็นเสร็จพิธี!!
“แม่ลูกจันทร์” เห็นว่ารัฐบาลลุงตู่ผ่าทางตันได้รวดเร็วทันใจ
แต่...การที่รัฐบาลยอมแก้ไขสัญญาจากจ่ายสดก้อนเดียว เป็นผ่อนจ่าย 6 ปี หรือ 10 ปี จะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่หรือไม่??
“แม่ลูกจันทร์” ไม่ขอวิจารณ์ให้เมื่อยต่อมทอนซิล
ถ้ามองแง่หลักการ โครงการลงทุน ย่อมมี “ความเสี่ยง” เป็นภาระจำยอม
ถ้ามองแง่ความเป็นจริง ผลกระทบจากโควิดระบาดทำให้จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง 30 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มซีพีไม่ได้ขาดทุน
เพราะการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ยังอยู่ในมือ รฟท.
กลุ่มซีพีจะรับความเสี่ยง หลังจากชำระเงินโอนสิทธิ์ให้รัฐบาลแลกกับสัมปทานแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 50 ปี
ในระยะสั้นกลุ่มซีพีอาจขาดทุนบ้างเป็นธรรมดา
แต่ระยะยาว...กลุ่มซีพีมีแต่ฟันกำไรสะดือบวม
โกยกำไรสะดือบานไปอีก 50 ปี
จบแค่นี้ก็แล้วกันนะคุณโยม.
“แม่ลูกจันทร์”