รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม แสดงความแปลกใจ สงสัยว่าทำไมจึงต้องพูดกันในเวลานี้ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปี เมื่อใด ถามว่าจะเริ่มนับเมื่อใด ได้รับคำตอบว่ามีสูตรคิด 3 ทาง คือนับปี 2557 หรือปี 2560 หรือปี 2562 แต่ยังไม่ฟันธง
เหตุที่มีการพูดถึงปัญหาดังกล่าว เพราะนักการเมืองฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มนับเมื่อใด แม้แต่ระดับเนติบริกรก็ยังบอกว่ามีความเห็นต่าง 3 ทาง เมื่อถึงจังหวะหนึ่ง อาจร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เช่น เมื่อมีการยุบสภา ต้องการนายกรัฐ มนตรี เรื่องนี้ไม่กังวลใดๆ
เมื่อมีการยุบสภา ต้องเลือกตั้งใหม่ ก็ยังเป็นปัญหาต่อไป พรรคพลังประชารัฐอาจเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรีตามคำสัญญา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 และน่าจะไม่มีปัญหา เพราะ ม.89 ระบุว่าผู้สมัครนายก รัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160
มาตรา 160 ไม่ได้ห้ามนายก รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปี มิให้สมัครนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าเป็นการยุบสภาหลังวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ก็จะเกิน 8 ปี กลุ่มนักการเมืองและประชาชนที่ให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ก็อาจจะออกมาคัดค้าน ทั้งในและนอกสภา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์สมัครเป็นนายกฯอีก
ไม่ทราบว่าการต่อต้านจะรุนแรงแค่ไหน แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ มีคนหลายกลุ่มจ้องขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่นอกสภา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้สมัครนายกฯอีก ก็จะเข้าทางกลุ่มผู้ต่อต้าน โจมตีเป็นอภิสิทธิ์ชน อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและรอดตัวมาได้ ทั้งในกรณีกล่าวคำปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน และการอยู่บ้านพักทหาร
ข้อกำหนดให้นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี เพิ่งจะบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมาจากคณะรัฐประหารเช่นเดียวกัน เชื่อว่าเพื่อสกัดกั้นผู้นำการเมืองบางคน ไม่ให้ผูกขาดเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ชนะเลือกตั้งติดต่อกัน 2 สมัย ในปี 2544 และ 2548 ก่อนถูกยึดอำนาจในปี 2549
...
แต่บทบัญญัตินี้กลับถูกนำมาใช้ กับนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเสียเอง และมีสูตรคิดถึง 3 สูตร แต่จะต้องถูกต้องเพียงสูตรเดียวเท่านั้น อีกสองสูตรจะต้องผิด กลายเป็นสูตรศรีธนญชัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง เสนอแนะว่าควรหาข้อยุติโดยเร็ว มิฉะนั้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาการเมือง.