“บิ๊กป้อม” ประชุมร่วม กอนช. เร่งคลี่คลายน้ำท่วม กำชับ 5 หน่วยงาน ทำงานประสานกัน ทั้งคาดการณ์ แจ้งเตือนประชาชน เฝ้าระวัง ระบายน้ำในพื้นที่ แบบบูรณาการ ครบวงจร

วันที่ 29 ก.ย. 64 เวลา 14.30 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความพร้อมและกล่าวมอบนโยบายในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. และผู้แทนจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

พลเอกประวิตร กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาเพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด โดยเน้นย้ำให้กรมชลประทานให้เร่งระบายน้ำโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ขอเน้นย้ำให้ร่วมมือกัน ประสานงานกันให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการคาดการณ์ที่จะยังมีพายุเข้ามาอีก

กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนให้ทุกหน่วยทำการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และเตรียมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ การกำหนดทิศทางการระบายน้ำ ต้องไม่เกิดผลกระทบที่จะทำให้ประชาชนท้ายน้ำเดือดร้อน โดยมอบหมายให้ สทนช.ประสานการปฏิบัติการคาดการณ์กับกรมอุตุฯ และ สสน. เพื่อติดตาม อำนวยการให้ทุกหน่วยทำงานได้สอดคล้องกัน มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้งเรื่องการรับพายุและการช่วยเหลือประชาชน กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการระบายน้ำลงลำน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยให้พิจารณากักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด ควบคู่กันไปด้วย

...

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานต้องบริหารการจัดจราจรน้ำ การชะลอน้ำเพื่อหน่วงน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรง โดยการผันน้ำเข้าไปพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือแก้มลิงต่างๆ และในส่วนปลายน้ำนั้นให้ทำการเร่งระบายออกโดยเร็ว รวมถึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย กำกับการปฏิบัติแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งแผนการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รัดกุม พร้อมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยเร็ว และที่สำคัญทุกหน่วยงานต้องแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบล่วงหน้าถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นลงไปถึงระดับหมู่บ้านหรือตำบล และต้องแจ้งให้ทราบถึงการปฏิบัติของหน่วยงานอย่างชัดเจนด้วย รวมถึงนำผลงานที่ปฏิบัติไปประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศ.