ครม. มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติ และในกรณีที่มีความรุนแรง ให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว

มีเพิ่มเติมหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติ ออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ที่มีลักษณะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำ

ต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาใช้ควบคุมโรคระบาดใหม่ที่มีความร้ายแรง เช่นที่ใช้ในปัจจุบันอีก

ใช้ พ.ร.ก.โรคติดต่อแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังรัฐบาลนี้ใช้กฎหมายแบบผิดฝาผิดตัวมานาน

ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่หลายคนเข้าใจว่าจะเป็นการ “นิรโทษบุคลากรทางการแพทย์” นั้น

ตัวร่าง พ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย หรือร้องขอ “ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”

เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึงผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย)

โดยทางฝั่งรัฐบาลพยายามเน้นย้ำว่า ในร่างฯไม่มีเนื้อหาส่วนใดพูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบาย หรือฝ่ายบริหาร ตามที่สังคมกังขา

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบกรอบแผนงาน โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด–19 ตามที่สภาพัฒน์เสนอ

เป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงาน หรือโครงการใช้จ่ายงบประมาณตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแผนงาน/โครงการที่ 3 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

...

เป้าหมายก็เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ เพื่อกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการตลาด และรักษาอุปสงค์ให้กับภาคธุรกิจ

กลุ่มเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และ วัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

คาดหวังจะรักษาการจ้างงานไว้ได้ 390,000 ราย เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการ

แผนงานดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 แผนงานตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท คือ

1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน 30,000 ล้านบาท

2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 300,000 ล้านบาท

สองแผนงานเบื้องต้น ถูกวิจารณ์หนักในความล้มเหลว ความไม่โปร่งใสของการใช้เงิน 1.7 แสนล้านบาทนี้ ถือเป็นแผนงานสุดท้ายที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด

ถลุงเงินไปเยอะแล้ว อย่าให้ล้มเหลวอีกเด็ดขาด.

“เพลิงสุริยะ”