"กัลยา" เผย กมธ.ดีอีเอส เชิญสำนักงาน กสทช.แจงกรณีออกใบอนุญาตดาวเทียม "ไทยคม" ตัวแทนแจงขั้นตอน-ระเบียบ-กรอบกฎหมาย เตรียมเชิญบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) ให้รายละเอียดหลังการรับมอบ Thaicom 4 และ Thaicom 6 หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ได้มีการประชุมประเด็นการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร ตำแหน่งวงโคจร 120 องศา ให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (ไทยคม) โดยมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ซึ่งเราได้ถามถึงที่มาที่ไปของการออกใบอนุญาตดังกล่าวว่า มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร แล้วการดำเนินการหลังจากหมดสัญญาสัมปทาน การบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร เนื่องจากทราบว่าจะเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เข้ามาดูแลแทน
โดยทางผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า ตามกฎหมายในขณะนั้น กสทช.ได้พิจารณาและออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทการให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่ไทยคม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 เป็นไปตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งบัญญัติให้มีองค์ของรัฐที่เป็นอิสระทําหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
...
น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า โดยการดําเนินการดังกล่าวนั้นต้องคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมถึง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 มาตรา 4 บัญญัติให้ "กิจการโทรคมนาคม" หมายความรวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 7 กําหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามลักษณะและประเภทที่กําหนดจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การออกใบอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการอนุญาตสำหรับการให้บริการดาวเทียมสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. นอกจากนี้การออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ขอบเขตและถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการให้บริการดาวเทียมสื่อสาร ณ ตำแหน่งงวงโคจร 120 องศาตะวันออก เป็นการขออนุญาตใหม่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 โดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีฯ นำเสนอ จึงอยู่นอกสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ และต้องอยู่ภายในกฎหมายที่ออกใหม่ (ในขณะนั้น) ภายใต้การบริหารจัดการโดยบริษัทที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการให้ใบอนุญาตก็ไม่เกี่ยวข้อง หรือกระทบกับสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการกำหนดเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตฯ ให้ไทยคมต้องคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่มีอยู่ด้วย
ประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ตัวแทนสำนักงาน กสทช.ชี้แจงอีกว่า ส่วนข้อสงสัยที่ว่า การพิจารณาและออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าว เหตุใดจึงไม่เปิดให้มีการขออนุญาตเป็นการทั่วไป เป็นการเปิดให้เฉพาะไทยคมรายเดียวหรือไม่นั้น การพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ดังกล่าวเป็นไปตามที่ไทยคมได้ยื่นคำขอ ซึ่งเป็นไปตามประกาศและหลักเกณฑ์ที่ กสทช.ประกาศกำหนดไว้เป็นการทั่วไป ที่ออกตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ.2544 และการที่ กทค.อนุมัติออกใบอนุญาตฯ ในครั้งนี้ ยังมีผลเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เนื่องจากทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิ์วงโคจรดาวเทียมไว้ได้ ในขณะที่ไทยคมได้ดําเนินการภายใต้มติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่อนุมัติให้ไทยคมดำเนินการรักษาสิทธิ์วงโคจรและจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นตามข้อกำหนดของ ITU และให้มาขอใบอนุญาตตามกฎหมายของ กสทช. หาก กทค.ไม่ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตฯ ให้กับไทยคม จะส่งผลทำให้ไทยคมไม่สามารถดำเนินการติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาดาวเทียมอื่นมาไว้ที่วงโคจรเป็นการชั่วคราวได้ และหากไม่มีการออกใบอนุญาตฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามหลักของ ITU ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิ์วงโคจรดาวเทียมที่ 120 องศาตะวันออกที่ได้รักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศไทย
"ส่วนการออกใบอนุญาตฯ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้หรือไม่ ไทยคมต้องรับภาระค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ผู้แทนสำนักงาน กสทช.ชี้แจงว่า เรื่องการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ให้กับไทยคม ไม่มีผลเป็นการยกเว้นภาระค่าธรรมเนียม ตามที่กฎหมายกำหนดใดๆ ทั้งสิ้น โดยไทยคมยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคมทุกประการ รวมทั้งได้มีการกำหนดเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพื่อให้บริการโครงข่ายดาวเทียมสื่อสารสำหรับผู้รับใบอนุญาตแบบที่สามให้สอดคล้องกับกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ด้วย โดยไทยคมยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข กฎ ระเบียบ ที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนดในอนาคต (Subject to Future Regulations) ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลประโยชน์สาธารณะ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปอีกด้วย ดังนั้นการออกใบอนุญาตฯ จึงไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือไม่ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามกฎหมายแต่อย่างใด" น.ส.กัลยา กล่าว
ด้าน นายสรอรรถ กลิ่นประทุม กมธ. กล่าวว่า จากที่ตามข่าวเห็นว่า การบริหารกิจการดาวเทียม Thaicom 4 และ Thaicom 6 ที่จะหมดสัญญาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 โดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะเข้าดำเนินการดูแลแทนไทยคม ซึ่งยังไม่ทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมของทางบริษัท โทรคมฯ ที่จะทำให้การส่งมอบเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่สร้างผลกระทบกับผู้บริโภค ไม่ควรเกิดกรณีจอดำเกิดขึ้น ควรมีกระบวนการแจ้งการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะได้มีการเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนผ่าน โดยจะต้องให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และบริหารจัดการให้บริการต่างๆ ยังเดินหน้าต่อไปได้
น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า การให้บริการดาวเทียมสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งและเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในครั้งนี้มีทางผู้แทนสำนักงาน กสทช.เข้ามาชี้แจงเพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งทาง กมธ.เองยังมีข้อสงสัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น อีกทั้งไทยคม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่ยังไม่ได้ความชัดเจนในเรื่องการแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้ผู้มีการส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง รวมทั้งแผนการเข้าดำเนินการหลังสัญญาของบริษัท โทรคมฯ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างไม่สะดุดติดขัด ทั้งนี้การดำเนินการทั้งสองเรื่องควรมีทำให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น กมธ.จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมกันอีกครั้ง.