ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ลงมติแบบเปิดเผย เห็นชอบ 472 ต่อ 33 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน ในวาระที่ 3 ร่างแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ก.ย.2564 ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) การพิจารณาลงมติในวาระที่สามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เป็นการลงคะแนนแบบเรียกชื่อตามตัวอักษรและลงคะแนนโดยเปิดเผยแบบขาน และต้องมีมติเห็นชอบ เพื่อออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. ต้องมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 730 คน คือเกิน 365 คน โดยมีจำนวนสมาชิกวิกวุฒิสภา(ส.ว.) 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) 480 คน
2. ต้องมีจำนวน ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้เทนราษฎร หรือ พรรคฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยรวมกันคือ 242 คน คือไม่น้อย 20% หรือไม่ต่ำกว่า 49 คน
3. ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 84 คน

ซึ่งปิดการลงคะแนนในเวลา 11.35 น. จากนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจนับคะแนน

ผลการลงมติ ปรากฏว่า

เห็นชอบ 472 คะนน โดยมีเสียง ส.ส. 323 คะแนน ส.ว. 149 คะแนน
ไม่เห็นชอบ 33 คะแนน โดยมีเสียง ส.ส. 23 คะแนน ส.ว. 10 คะแนน
งดออกเสียง 187 คะแนน โดยมีเสียง ส.ส. 121 คะแนน ส.ว. 66 คะแนน

ดังนั้นที่ประชุม มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 472 คะแนน มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา จึงผ่านเงื่อนไขข้อแรก, เงื่อนไขข้อ 2 เพราะเกินร้อยละ 20% อยู่ที่ 142 คะแนน และผ่านเงื่อนไขข้อ 3 จึงถือว่าเห็นชอบครบทั้ง 3 เงื่อนไข 

...

กระบวนการต่อไปจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 256 (7) รอไว้ 15 วัน เพื่อให้ นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯ

สำหรับเนื้อหาของร่างดังกล่าว คือ การปรับแก้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. จำนวน 500 คน จากปัจจุบันใช้ ส.ส.แบบเขต 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ในรัฐธรรมนูญปี 60 ให้กลับไปเป็น มีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงจากเดิมใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่สามารถเลือก ส.ส.เขตได้ 1 ใบ และเลือกพรรคได้ 1 ใบ และแก้วิธีคำนวณระบบบัญชีรายชื่อแบบใหม่

จากนั้นที่ประชุมพิจารณาวาระอื่นๆ ต่อ