ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวฯ เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 นายกฯ ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่า หารือแนวทางการจัดสรรงบ ก่อนเสนอ ครม.
วันที่ 23 ส.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ข้าวโลก ข้าวไทย ความต้องการใช้ข้าวปี 2564/65 ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกร จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลเกษตรกรและประชาชนให้ดีที่สุด โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่น การแข่งขันกับต่างประเทศที่มีราคาข้าวถูกกว่าของไทย การขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือที่สูง โรงสีขาดสภาพคล่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น แม้ผู้ส่งออกจะได้รับผลดีในเรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าถึงร้อยละ 8 จึงอยากให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก รวมถึงการบริหารจัดการตู้สินค้าสำหรับข้าวให้เพียงพอ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาได้ปีละครั้ง โดยให้หันมาปลูกพืชอื่นควบคู่การปลูกข้าวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวแทนการเข้ามาหางานทำในเมืองด้วย
...
พร้อมกันนี้ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนาน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
เป้าหมาย คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.689 ล้านครัวเรือน
โดยราคาและปริมาณประกันรายได้ คือ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้
1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
3) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
5) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณพร้อมจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อประชาชนเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรในระยะที่ 2 (ปี 2565-2568) โดยกระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ร่วมเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ และให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์และการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์จัดสรรโควตาร้อยละ 10 ของโควตาการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 1,700 ตันต่อปี สำหรับจัดสรรให้เฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่าคือ เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวคุณภาพที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 30,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 350 ล้านบาท (ข้าว GAP เพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท ข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท) รวมถึงขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP อย่างน้อย 700,000 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้บริโภคยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.