ครม.อนุมัติใช้เงินกู้ 33,471 ล้านบาท จ่ายผู้ประกันตนมาตรา 39, 40 คนละ 5,000 บาท รวม 6.69 ล้านคน ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ส่วน 13 จังหวัดสีแดงเข้มเดิมเตรียมรับเพิ่มอีกคนละ 5,000 บาท หลัง ครม.นัดหน้าอนุมัติ ย้ำให้รีบจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในกำหนดถึงได้รับเงินเยียวยา พร้อมปรับโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 อีก 2,022 ล้านบาท รวมเป็น 17,050 ล้านบาท ให้ครอบคลุม 29 จังหวัดสีแดงเข้ม
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ เสนออนุมัติวงเงิน 33,471 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 นำไปจ่ายเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนคร ศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี รวม 6,694,201 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 5,258,030 คน จะได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท โดยการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวให้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ใน 13 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมและสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จะได้รับเงินเยียวยารวม 2 เดือน ครม.มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปทำรายละเอียดที่จะได้อีก 1 เดือนเสนอ ครม.ครั้งต่อไป สำหรับวิธีการจ่ายเงิน จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจําตัวประชาชน หรือกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตามโครงการ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด
...
ทั้งนี้ คุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องมีสัญชาติไทย สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะ A (Active) ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด) หรือ ณ วันที่ 3 ส.ค.2564 (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัด) กรณีเป็นผู้สมัครเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในฐานทะเบียนประกันสังคมที่มีสถานะรอชำระเงิน W (Wait) ณ วันที่ 31 ก.ค.2564 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือผู้รับบำนาญของกรมบัญชีกลาง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.ยังให้กระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน รวมทั้งขอให้โอนเงินให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม.39 และ ม.40 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 10 จังหวัด ก่อนระยะเวลาที่กำหนด ภายในวันที่ 24 ส.ค.2564 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ก่อนพื้นที่อื่นๆ อีกทั้งกำหนดให้ผู้ที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มเติมในพื้นที่ 10 จังหวัด ต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 10 ส.ค.2564 และในพื้นที่ 19 จังหวัดต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและจ่ายเงินสมทบงวดแรกภายในวันที่ 24 ส.ค.2564
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ มีการอภิปรายถึงประเด็นการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 40 ว่า สำนักงานประกันสังคมควรไปกำหนดหลักเกณฑ์ให้ต้องชำระเงินสมทบรายงวดอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระบบ 6 เดือนหลังจากได้รับเงินเยียวยาแล้ว หากไม่สมทบต่อเนื่องก็ให้คืนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือ แต่สำนักงานประกันสังคมระบุว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากตามกฎหมายถือว่าผู้ประกันตน มาตรา 40 เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ อย่างไรก็ดี สำนักงานประกันสังคมจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ เพื่อจูงใจให้อยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง
นายอนุชาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ครม.อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเปลี่ยนชื่อโครงการฯ เป็น โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด และขยายกรอบวงเงินโครงการจากเดิม 15,027 ล้านบาท เป็น 17,050 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,022 ล้านบาท ตลอดจนขยายระยะเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 13 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28) และ 16 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 30) สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ จนถึงวันที่ 24 ส.ค.2564 นี้