นายกฯ ถก 21 รพ.เอกชน ยันรัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ข้อเสนอเร่งเพิ่มเตียงแดง-เหลือง-ห้องติดลบ เพราะห่วงเรื่องขยายเตียงอาจไม่พอ พร้อมแนะคุมเชื้อให้ได้ผล ต้องเร่งจัดหาวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญ
วันที่ 30 ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 21 แห่ง ผ่านระบบโปรแกรมซูมจากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว. สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทีมแพทย์สาธารณสุข และผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วม โดยที่ประชุมรับทราบรายงานการครองเตียงของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน 21 แห่ง ทั้งส่วนหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม พบว่า 21 แห่ง มีเตียงรวม 34,560 เตียง มีการครองเตียงไปแล้ว 32,215 เตียง เหลือเตียงว่าง 2,345 เตียง
โดยในจำนวนนี้ มีโรงพยาบาลเอกชน 18 แห่ง ที่การครองเตียงเต็ม 100% อาทิ โรงพยาบาลธนบุรี 1,300 เตียง โรงพยาบาลสนาม 600 เตียง, โรงพยาบาลวิภาราม มีจำนวนเตียง 600 เตียง, โรงพยาบาลวิชัยเวท 1,500 เตียง, โรงพยาบาลกรุงเทพ 71 เตียง, โรงพยาบาลปิยะเวท 3,000 เตียง, โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 2,200 เตียง, โรงพยาบาลลาดพร้าว 700 เตียง
ส่วนโรงพยาบาล 3 แห่งที่ยังมีเตียงว่างอยู่ ประกอบด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ มีจำนวนเตียง 11,141 เตียง ใช้งาน 9,221 เตียง เหลือ 1,920 เตียง โรงพยาบาลสนามในสังกัด 508 เตียง ใช้งานครบ 100% โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ มี 100 เตียง ใช้งาน 90 เตียง เหลือ 10 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนามในสังกัดมี 215 เตียง ใช้งานแล้ว 200 เตียง เหลือ 15 เตียง และโรงพยาบาลจุฬารัตน์พร้อมในเครือ คงเหลือ 400 เตียงจากทั้งหมด 4,000 เตียง ทั้งนี้ ในที่ประชุมเจ้าของและตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนได้นำเสนอปัญหาและแนวทางรับผู้ป่วย การรักษา และการลดการติดเชื้อ ซึ่งต่างยอมรับว่า ต้องเพิ่มเตียงสีเหลือง-แดง ห้องความดันลบ
...
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมต่างนำเสนอปัญหาที่คล้ายกันคือ ความจุการรองรับผู้ป่วยมีข้อกังวลแม้จะขยายเตียงมากเท่าไร แต่จะรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอหรือไม่ หากการควบคุมการระบาดยังไม่เป็นผล โดยเฉพาะวัคซีนที่เป็นหัวใจสำคัญ
ขณะที่นายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลจะเร่งรัดนำเข้าจัดหาวัคซีนทั้งของรัฐและเอกชน โดยวัคซีนหลักของรัฐบาลคือ ซิโนแวค แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และที่กำลังดำเนินการด้านเอกสารคือสปุต นิก วี ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนซื้อผ่านราชวิทยาลัย เช่น ซิโนฟาร์มที่มีเข้ามาแล้ว โมเดอร์นา จะเข้ามาไตรมาส 4 ซึ่งขึ้นกับบริษัทต้นทาง โดยวัคซีนต้องแจกจ่ายให้ทั่วถึงตามสัดส่วนประชากรและการระบาด รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ทุกส่วนต้องทำงานทั้งเชิงรุก เช่น การขยายเตียง การตรวจคัดกรอง ต้องบูรณาการงานร่วมกัน ชีวิตประชาชนคนไทย ตัองได้รับการดูแล ข้อกฎหมายที่ติดขัดจะแก้ไข เพื่อให้แพทย์บริหารจัดการโรคได้ รวมทั้งชุดตรวจเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) จะมีแจกจ่ายไปตรวจ แต่ตรวจแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไรต้องให้ชัดเจน ทั้งนี้ ขอร่วมมือพูดคุยกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน “ผมรักทุกคนนะครับ”
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลและศบค. ทำงานแบบบูรณาการ โดยมีความพยายามลดจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด ไม่มีการรวบอำนาจ มีการจัดเตรียมงบประมาณ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ฯ 5 แสนล้านไว้รองรับแล้ว และเตรียมพร้อมจัดหาเวชภัณฑ์ไว้เพียงพอ ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้ไทยสามารถผลิตได้ 200,000 เม็ด เดือนหน้าผลิตได้ 3,000,000 เม็ด ที่เหลือจะนำเข้าจนครบ 60,000,000 เม็ดในเดือนกันยายน ส่วนของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นไปตามเดิม ไม่มีตกหล่นหรือหายไป
นอกจากนี้ยังสั่งการกระทรวงกลาโหม และกองทัพ เข้ามาช่วยดูแลประชาชน บูรณาการทุกภาคส่วน จัดระบบแพทย์ พยาบาล โดยนำนักเรียนแพทย์ชั้นปีสุดท้ายเข้ามาช่วยดูแล ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพยายามสร้างสังคมที่ดูแลกันเป็นพื้นที่สีฟ้า ที่เพื่อนบ้านใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจกรมควบคุมโรค ที่ได้มีการปรับการแถลงข่าว ที่ช่วยลดความวิตกกังวลของสังคมในขณะนี้ ยืนยันการบริหารงานของรัฐบาลและศบค. ที่ผ่านมาไม่ได้ล้มเหลว โดยพร้อมลงไปพบปะให้กำลังใจคนทำงาน แต่ไม่ใช้ไปหาเสียง แต่เกรงว่าจะเป็นการรบกวนคนทำงาน จึงขอให้คนไทยหันหน้าร่วมมือกัน จะสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้