กลุ่มเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ยื่นหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข พร้อม 4 ข้อเสนอ ให้นำ mRNA เป็นวัคซีนหลักให้คนไทยทุกคน พร้อมจี้เปิดเผยข้อมูลด่านหน้าจะได้ ไฟเซอร์ อีกกี่คน

วันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข 7 แนวร่วมบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอไม่ทน ภาคีบุคลากรสาธารณสุข Nurses Connect DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA Thailand) ภาคีเทคนิคการแพทย์ และนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา โดยมีนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรับมอบ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

โดยเนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อใหม่ มากกว่าวันละ 1 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 4 พันคน ซึ่งถือเป็นวิกฤติทางสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยได้ประสบมา ขณะที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคนล้วนเหนื่อยล้า ทำงานติดต่อกันหลายเดือน แม้ว่าจะได้รับวัคซีน Sinovac แล้วครบ 2 เข็ม แต่การแพร่ระบาดของของสายพันธุ์เดลตายังมีความรุนแรง และพบว่ามีบุคลากรติดเชื้อแล้วมากกว่า 2,000 รายและอีกนับหมื่นรายต้องกักตัว

...

ขณะที่ล่าสุด ทางสหรัฐอเมริกา ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ไทยจำนวน 2.5 ล้านโดส และเพิ่งได้รับลอตแรก 1.5 ล้านโดส ในเดือนนี้ ที่มีเป้าหมายให้แก่บุคลากรด่านหน้า ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรร จึงเกิดความวิตกว่า การกระจายวัคซีนจะไม่เป็นไปตามความจำเป็น จึงวิงวอนให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เพื่อให้การจัดสรรเป็นไปอย่างยุติธรรม รวมถึงเปิดเผยแผนการ และจำนวนการจัดสรรวัคซีน Pfizer ในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรด่านหน้า พร้อมเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1. นำวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักให้ประชาชนคนไทยทุกคน

2. เปิดเผยว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นบูสเตอร์โดสจำนวนเท่าใด และเหลืออีกเท่าใดที่จะได้รับ Pfizer

3. นำข้อมูลสำคัญกลับมาบรรจุในระบบ Cold-chain tracking เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใส และให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย

4. มีความชัดเจนในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ แก่ประชาชน มีการรายงานความคืบหน้าสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และข้อมูลสื่อสารจากหน่วยราชการ ควรเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกัน