“บิ๊กตู่” ตั้งวงถกกลุ่ม 40 ซีอีโอพลัส ชง 4 ประเด็นหลักให้นายกฯพิจารณา ทั้ง ควบคุมการระบาด-เยียวยาผู้ประกอบการ ประชาชน-กระตุ้นเศรษฐกิจ-ฟื้นฟูประเทศไทย “สนั่น” ยันนายกฯรับไว้พิจารณาจะนำไป ดำเนินการต่อ ภาคเอกชนหนุนนายกฯพร้อมช่วยทุกช่องทาง “บิ๊กเอไอเอส” แนะรัฐบาลพูดความจริง “บอสสวนสยาม” ลั่นไม่เอาอู่ฮั่นโมเดล “ประยุทธ์” ยาหอมจับมือเอกชนฝ่าวิกฤติ จ่อนำข้อเสนอเข้า ศบศ. ออกมาตรการกระตุ้น ศก.-การลงทุน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในห้วงภาวะวิกฤติหนัก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ต้องเชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกลุ่ม 40 ซีอีโอพลัส มาหารือหาทางออกร่วมกัน

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 21 ก.ค. ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ ถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สำหรับ 40 ซีอีโอที่ร่วมประชุม อาทิ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) น.ส. ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เป็นต้น

...

จากนั้นนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯขอบคุณเอกชนที่มาร่วมหารือ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากขึ้น ยังเดินหน้าแก้ไขอย่างรอบด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 14 ล้านโดส กำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนผ่านโครงการ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มียอดการใช้จ่ายแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาภาคเอกชนให้ข้อเสนอแนะ ข้อที่ทำได้รัฐบาลดำเนินการทันที ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง ต้องลดความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างการรับรู้ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในนาม 40 ซีอีโอพลัส ขอบคุณนายกฯและคณะที่จัดสรรเวลาเชิญ 40 ซีอีโอพลัสหารือในวันนี้ ภาคเอกชนมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การควบคุมการแพร่ระบาด โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชนที่ร่วมกับ กทม. สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล มีศักยภาพให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 คน/วัน เอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐจัดอุปกรณ์การแพทย์ ทั้ง Rapid Tests ยารักษา เตียงผู้ป่วยหนัก และ ICU รวมทั้งมาตรการ Isolation โดยเทคโนโลยีดิจิทัล และจัด Platform ต่างๆ ซึ่ง TeleMed ช่วยสร้างความเชื่อมั่นลดจำนวนผู้ป่วยได้ 2.การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เสนอให้ขยายมาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการที่ต้องหยุดประกอบการตามคำสั่งของราชการ รวมทั้งธุรกิจในห่วงโซ่ต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy 4.การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ เอกชนขับเคลื่อนกิจกรรมที่มีผลกระทบสูง และประชาชนไทยได้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation ข้อเสนอทั้ง 4 แนวทางเป็นการฟื้นฟูประเทศ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เข้าใจรัฐบาลที่มีความยากลำบากในการทำงาน ให้กำลังใจนายกฯ และพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยความจริงจัง

ด้านนายกฯกล่าวว่า สิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล ยืนยันว่า นายกฯ คณะรัฐมนตรี และ ศบค.ไม่เคยหยุดคิด หยุดทำงาน เพื่อดูแลคน 70 ล้านคน และย้ำมาตลอดว่าไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ รัฐบาลทำหน้าที่กำหนดนโยบายสร้างโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง และยืนยันการเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ที่เริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไป จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปหารือกับ ครม.และ ศบค.ต่อไป

ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวหลังการหารือว่า รู้สึกเห็นใจและเข้าใจรัฐบาล เชื่อว่าภาครัฐมีแผนงานชัดเจน ทั้งการคัดกรอง เยียวยา และฉีดวัคซีน แต่หากแผนงานที่วางไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จำเป็นต้องพูดความจริงและเปิดเผยแผนที่ปรับเปลี่ยนไป ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ และยังอยากให้รัฐบาลที่มีทรัพยากรของแต่ละหน่วยงานอยู่มาก นำมาบูรณาการร่วมแก้วิกฤติ เอาเอกชนและภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำงาน เช่น ในสายโทรคมนาคม กสทช.ควรร่วมทำงานกับภาคเอกชน เพื่อช่วยผู้บริโภคก่อน

นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามพาร์ค บางกอก ผู้บริหารสวนน้ำและสวนสนุกสวนสยาม กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้หยิบยกเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจทำ “อู่ฮั่น โมเดล” ขึ้นมา แต่ภาคเอกชนเคยคุยกันก่อนนี้ว่าไม่เห็นด้วย ทำแล้วจบจริงหรือไม่ ถ้าจะทำรัฐจะชดเชยอย่างไร ศักยภาพของภาครัฐทำได้จริงไหม หากจะทำ ทำไมไม่ทำแบบกว่างโจวโมเดล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และล็อกดาวน์พื้นที่เป็นส่วนๆไป

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า วันที่ 22 ก.ค. นายกฯจะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการศบศ. หารือสถานการณ์เศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ รวมทั้งจะนำข้อสรุปจากการหารือ 40 ซีอีโอเข้าด้วย รวมถึงเตรียมหารือเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมรายงานความคืบหน้าของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เริ่มต้นทำแล้วใน 2 พื้นที่นำร่อง คือ จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัสโมเดล อีกทั้งยังเตรียมเสนอให้เปิดพื้นที่นำร่องเพิ่มเติมในจังหวัดอื่น เช่น กระบี่ และพังงา