ระดมชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนอีกต่อไป ลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวกสบายกับประชาชน แต่คนยังกลัวการลงชื่อ

เมื่อช่วงปลายเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ โดยเปลี่ยนสาระสำคัญ จากเดิมที่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องยื่นสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงนามในกระดาษ แต่ในมาตรา 8 วรรค 5 ของกฎหมายฉบับใหม่นี้ระบุว่า ให้สามารถระดมชื่อผ่านออนไลน์ได้ แค่เพียงระบุชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนอีกต่อไป

ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญ ต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานรัฐสภา ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่ก็มีการกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไว้ 1 เรื่อง คือ หากมีการปลอมลายมือชื่อผู้ที่กระทำความผิดจะถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลสั่ง

ส่วนเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็เพื่อต้องการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย และปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงเพิ่มกลไก ช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 18 มีนาคม 2564 ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยคะแนนถึง 518 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นชอบ

...

สุดท้ายกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็ถูกประเดิมด้วยการล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” จากกลุ่ม Re-Solution เพื่อสกัดกั้นกลไกการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์เสียเอง ด้วยเหตุผล 4 ประเด็นหลัก คือ ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปฏิรูปที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และล้มล้างมรดกรัฐประหาร โดยมีประชาชนขอเข้าชื่อถึง 150,921 คน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 50,000 ชื่อ หรือมากถึง 3 เท่า

กฎหมายเปิดทางให้รวบรวมรายชื่อได้เร็วขึ้น

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) หนึ่งในกลุ่ม Re-Solution ซึ่งถือเป็นผู้ใช้ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เป็นกลุ่มแรก เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับนี้ ทำให้รวบรวมรายชื่อเร็วขึ้น โดยภายใน 7 วัน มีประชาชนเข้าชื่อถึง 150,000 รายชื่อ ซึ่งเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่า พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับเดิม โดยมีข้อดี 3 อย่างคือ

1. เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน เพราะเอกสารในการลงชื่อลดลงไป ที่สมัยก่อนต้องมีการเซ็นแบบฟอร์มของรัฐสภา และต้องส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมลายเซ็น พอเป็นกฎหมายฉบับใหม่ ไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาบัตรประชาชน ใช้เพียงแค่เอกสารที่มีลายเซ็นของตัวเอง โดยไม่ต้องปรินต์เอกสารออกมา เพียงแค่ส่งเป็นภาพเข้ามาให้ผู้รวบรวม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประชาชนร่วมเข้าชื่อ ของรูปแบบ พ.ร.บ.ฉบับเก่า น้อยกว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่

2. เพิ่มความสะดวกสบายต่อคนที่อยากจะเสนอกฎหมาย สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะกฎหมายได้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องการจัดทำร่างกฎหมาย หรือการรวบรวมเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมทั้งจะต้องมีหน้าที่จัดทำแบบฟอร์มเข้าชื่อ ที่ตอนนี้ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

3. มีการคุ้มครองร่างของภาคประชาชน ทั้งรูปแบบล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอแก้กฎหมาย หรือล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ ในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะมีการพิจารณา ก็จะไม่ถูกปัดตกไป หากตัวแทนผู้เสนอร่างยืนยันว่าจะเสนอให้มีการแก้ไขในสมัยประชุมสภาครั้งหน้า ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม ที่จะต้องถูกปัดตก ยกเว้น คณะรัฐมนตรียับยั้งไว้

ข้อเสียที่พบ มี 2 เรื่อง ที่ยังติดขัดอยู่

1. เมื่ออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกฎหมายเก่า มาสู่กฎหมายใหม่ ที่แคมเปญของกลุ่มอยูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทำให้มีหลายอย่างยังเกิดความสับสน เช่น เรื่องแบบฟอร์ม ที่คนลงชื่อก่อน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ถูกบังคับใช้ ยังสามารถใช้ได้อยู่หรือไม่ แต่ก็ไม่ได้มีการระบุแนวทางออกมาชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ จึงหวังว่าแบบฟอร์มของกลุ่มจะไม่มีปัญหา

2.ประชาชนยังต้องเซ็นชื่อ แม้จะไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จึงหวังว่าหากรัฐสภาทำแพลตฟอร์มขึ้นมาแล้ว จะสามารถยืนยันตัวตนได้ครบจบในออนไลน์ แบบไม่ต้องลงชื่อ ที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ซึ่งเข้าใจดีว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐสภายังไม่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มตรงเวลากับกฎหมายที่บังคับใช้

“ผมว่าประเด็นแรก น่าจะเป็นประเด็นคาบเกี่ยวที่ว่า บางอย่างมันควรจะเสร็จพร้อมกับตอนที่กฎหมายบังคับใช้ แต่มันยังไม่เสร็จนะครับ แต่ประเด็นที่ 2 ที่บอกว่าใหญ่กว่า คือไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องของบรรยากาศที่เราพบเจอ พอเราไปล่ารายชื่อ มีประชาชนไม่น้อยที่บอกว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอแต่ไม่กล้าลงชื่อ เพราะกลัวว่าประวัติตัวเองจะถูกส่งไปให้ทางการ แล้วกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะกิจกรรมเข้าชื่อเหมือนกับกิจกรรมเลือกตั้ง เป็นสิทธิ์พื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย” นายพริษฐ์ กล่าว

คนยังหวาดกลัว ผู้มีอำนาจต้องหาวิธีที่สร้างความสบายใจให้ประชาชน

ดังนั้น หากประชาชนยังมีความหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิ์ในเรื่องนี้ ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาหรือผู้มีอำนาจ ที่จะต้องคิดค้นวิธีและมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความสบายใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าหากลงชื่อไปแล้ว จะไม่มีผลตามมา เพราะเป็นการใช้สิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตย

แต่กฎหมายในปัจจุบันถือว่าดีกว่าอดีตค่อนข้างมาก จึงอยากให้รัฐสภาพัฒนาแพลตฟอร์มส่วนกลาง ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อได้อย่างสะดวกสบายที่สุด เช่นการเข้าเว็บไซต์ แล้วลงชื่ออนไลน์ได้ทันที ไม่ใช่การปรินต์แบบฟอร์ม ลงชื่อ แล้วถ่ายภาพมาให้ผู้รวบรวม

“ผมคิดว่าอันนี้เป็นนิมิตหมายใหม่ ที่ทำให้ประชาชนมีการตื่นตัวในการใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น หากรัฐสภาทำแพลตฟอร์มที่มันใช้งานง่าย ประชาสัมพันธ์อย่างดี เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ผมคิดว่ากระบวนการ หรือว่าปรากฏการณ์ที่ประชาชนมาเสนอกฎหมายใหม่ๆ ผมว่ามันจะมีมากขึ้นครับ” นายพริษฐ์ กล่าว

ซึ่งขณะนี้รายชื่อจำนวน 150,921 รายชื่อที่ทาง กลุ่ม Re-Solution รวบรวมได้ จากช่องทางไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์ ในแคมเปญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ได้ถูกยื่นต่อประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทางกลุ่มคาดหวังว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ ตามกำหนดเวลาภายใน 1 เดือน หากเรียบร้อยก็จะทราบว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะถูกบรรจุเมื่อใด.