- รัฐต้องไม่ประกาศ “วัคซีนทางเลือก” ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- จับตาประชุมสภาฯ พิจารณางบประมาณปี 65 ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม เพื่อไทยจัดทัพเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบย่อมๆ
- ปัดต่อต้านการกู้เงินมาเพื่อช่วยเหลือประเทศ แต่ต่อต้านคนที่กู้มาแล้วใช้ไม่เป็น ลั่น นายกฯ ที่ดีที่สุดขณะนี้ไม่ได้ชื่อ “ประยุทธ์”
วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ กำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค. 2564 เป็นการประชุมที่ต้องติดตาม เนื่องจากเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. จากนั้นลงมติว่าจะรับเห็นชอบรับหลักการหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะถึงวันนั้นก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในเรื่องตัวเลขงบประมาณที่ถูกนำมาเปรียบเทียบระหว่างกระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุขท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติ จนฝั่งรัฐบาลต้องออกมาชี้แจง และขอให้รอติดตามรายละเอียดต่างๆ ในการประชุมสภาฯ
ก่อนจะถึงวันนั้นเราได้พูดคุยกับหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่าง “นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย” ที่มักถูกโหวตให้เป็น “ดาวสภาฯ” อยู่เสมอๆ ถึงเรื่องราวหลากหลายประเด็นร้อนที่กำลังถูกจับตาในขณะนี้ ทั้งการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 รวมถึงพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 กรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19” ฉบับที่ 2 ว่ามีมุมมองความคิดเห็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดนี้อย่างไร และกรอบแนวทางการอภิปรายจะเป็นไปในทิศทางไหน
...
ให้คะแนนติดลบ การบริหารวัคซีนโควิดของรัฐบาล
เริ่มต้นที่การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล หมอชลน่าน บอก ให้คะแนนติดลบ เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏขณะนี้มีการนัดกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนหลายที่ประกาศเลื่อนระยะเวลาออกไป เช่น หลายโรงพยาบาลเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 แม้จะบอกเหตุผลว่าสามารถเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็น 16 สัปดาห์ได้ มีประสิทธิภาพและภูมิคุ้มกันขึ้นดี แต่ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฉีดในสัปดาห์ที่ 10 เป็นเหตุผลที่อ้างไม่ขึ้น ลึกๆ แล้วคือไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย ลอตแรก 1.7 ล้านโดส ในวันที่ 21 พ.ค. ปรากฏว่าไม่มีวัคซีนมา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มาตอบว่าเป็นเรื่องต้องตรวจสอบต่างๆ มองว่าเป็นข้ออ้าง แต่ที่จริงไม่สามารถที่จะจัดหาวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชนได้
ขณะที่วัคซีนที่หาได้ในขณะนี้มีเพียงซิโนแวค (Sonovac) โดยเป้าหมายเดิมบอกว่าจนถึง พ.ค. รวมแล้ว 6 ล้านโดส แต่ก็มีข่าวการสั่งเพิ่มอีก 3 ล้านโดส รวมแล้ว 9 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีการประกาศเองในช่วงแรกว่าไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ ขณะนั้นนายกรัฐมนตรียังต้องระงับยับยั้งการฉีด ต้องรอวัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข้ามา เป็นข้อมูลที่ให้กับประชาชนตอนแรกว่าความปลอดภัยในผู้สูงอายุมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อก็ต่ำ ถึงแม้องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าเฉลี่ยออกมาได้ประมาณ 67% ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะเกณฑ์มาตรฐานควรจะ 70% ขึ้นไปจึงจะป้องกันการติดเชื้อได้ ที่สำคัญคือเมื่อฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถแพร่เชื้อได้ ข้อดีคือไม่ป่วยหนักถึงเสียชีวิต หากกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ต้องหันกลับไปฉีดซิโนแวคเขาก็ไม่ฉีด จะทำให้เกิดปัญหาตามมา
ส่วนเรื่องการกระจายวัคซีนก็มีปัญหา มาตรการหลักให้ลงทะเบียนใน “หมอพร้อม” มาตรการสำรองคือลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-site registration) คำนี้ก็เป็นประเด็น เพราะเดิม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่าถ้าจะกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมรวดเร็วทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องจัดเป็นวอล์กอิน (Walk-in) ลักษณะ One Stop Service ลงทะเบียนฉีดเสร็จรับใบนัดกลับ ปรากฏว่าถูกเบรกจากนายกรัฐมนตรี เมื่อการกระจายวัคซีนมีปัญหา ความมั่นใจที่ตั้งไว้ว่าจะฉีด 50 ล้านโดสในสิ้นเดือน ก.ย. 2564 รู้สึกจะมีความว้าเหว่มาก หรือความเป็นไปได้แทบจะไม่มี โดยสรุปการบริหารวัคซีนของรัฐบาล ทั้งตัววัคซีนเองก็เป็นวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ ตัวแอสตราเซเนกาที่เป็นวัคซีนหลักก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเข้ามาเมื่อไร จากการติดตามบอกว่า Roll out คือผลิตแล้วส่งมอบ ไม่ได้ผลิตลอตใหญ่มากองไว้ส่งคราวเดียว ซึ่งภายใน มิ.ย. ก็ยังไม่ระบุชัดว่าจะได้วันที่เท่าไร แต่กลับมีการประกาศว่าวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และ 7 มิ.ย. เริ่มฉีดปูพรมทั่วประเทศ วัคซีนยังไม่มีเลย นี่คือตัวอย่างของการบริหารวัคซีน
รัฐต้องไม่ประกาศวัคซีนทางเลือก ทุกคนต้องได้ฉีดฟรี
เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 การที่ไปจำกัดการจัดหาโดยไม่นำเข้าให้มีความหลากหลาย เป็นข้อจำกัดมากจึงทำให้เกิดปัญหา หรือที่ใช้ภาษาว่า “แทงม้าตัวเดียว” และเลือกเฉพาะซิโนแวคมาเป็นวัคซีนสำรอง จนกระทั่งมีข้อเรียกร้องข้อเสนอจากทุกภาคส่วนถึงเริ่มขยับ แต่ก็ช้าไปแล้ว วัคซีนขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ขายเพราะมีของจำกัด การเรียกร้องให้มีวัคซีนจึงเป็นประเด็นที่ไปบีบรัฐบาล สุดท้ายเมื่ออยากมีส่วนร่วมในการจัดหาก็บอกว่าต้องจัดหาผ่านรัฐเท่านั้น รัฐสามารถจัดหาได้ พูดง่ายๆ คือ ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีนอย่างเสรี อีกเรื่องที่อยากจะเน้นย้ำ หลังรัฐบาลกำหนดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ของคนที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ฟื้นเศรษฐกิจและใช้วิถีชีวิตปกติได้ แต่กลับไปประกาศว่ารัฐจะจัดหาวัคซีนหลักที่ประชาชนมารับบริการแล้วไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าจะไปรับวัคซีนทางเลือกต้องเสียค่าใช้จ่าย
“ตรงนี้เป็นประเด็น รัฐต้องไม่ประกาศวัคซีนทางเลือก เพราะพี่น้องประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้ รัฐต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นหน้าที่รัฐต้องดำเนินการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รัฐจะประกาศเป็นวัคซีนทางเลือกไม่ได้ ส่วนถ้าภาคเอกชนจัดการแล้วใครจะเป็นคนเสียค่าใช้จ่าย ก็คือรัฐ มันไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลยที่คุณบอกว่าวัคซีนทุกตัวได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก วัคซีนทุกตัวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย จะต้องเป็นวัคซีนของชาติ เป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องสนับสนุนและจัดหาให้ ถ้าเอกชนเป็นผู้จัดการ เช่น ฉีดให้ นำเข้ามา รัฐต้องเป็นผู้อุดหนุนค่าใช้จ่าย ค่าวัคซีนตรงนั้นด้วย นี่เป็นแนวทางที่ควรจะเป็น”
รัฐสภาเข้มมาตรการ ย้ำ ต้องตระหนักทุกคนมีโอกาสเสี่ยง
รัฐสภาเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ปี 2564 แต่มีข่าวออกมาว่ามีแม่บ้านติดเชื้อจากสามีที่ทำงานในแคมป์ก่อสร้าง มีความกังวลเรื่องการระบาดหรือไม่นั้น นายแพทย์ชลน่าน มองว่า ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่สภาฯ แต่ทุกคนในพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่สีแดง ต้องกังวลว่าจะมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 จากคนที่สัมผัสใกล้ชิดหรือไม่ ตอนนี้บอกไม่ได้เลยว่าใครมีหรือไม่มีเชื้อ ส่วนใหญ่คนที่ติดแล้วไม่มีอาการ ทุกคนต้องมีความตระหนักว่ามีโอกาส ต้องระมัดระวัง อาศัยมาตรการทั้งหลายเพื่อป้องกันไม่ให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนกอะไร ฉะนั้นเมื่อรัฐสภาเปิด โอกาสที่จะสัมผัสผู้คนก็เยอะมาก ต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเข้มข้น การอยู่ห่างจากผู้คนเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น สวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อเข้าปาก-จมูก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือเวลาทานอาหารเป็นช่องว่างที่จะนำเชื้อสู่กัน ตอนนี้สภาฯ ไม่ให้ทานแบบบุฟเฟต์แบบเดิมแล้ว มาตรการของสภาฯ เข้มทุกขั้นตอน สอบถามล่วงหน้าว่ามีการฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง ไปสัมผัสเสี่ยงมาหรือไม่ ถ้าไปมาก็ขอให้งดเข้าประชุมที่สภาฯ ส่วนเรื่องผู้ติดตามเดิมไม่จำกัด ขณะนี้ลดเหลือ 2 คน คือ พนักงานขับรถกับผู้ติดตาม 1 คน
จัดหนักงบ 65 คล้ายอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบย่อมๆ
ที่น่าจับตา คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในวาระแรกที่ 1 หรือวาระรับหลักการ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2564 พรรคเพื่อไทยมีการประชุมวางกรอบแนวทาง เนื้อหา และเป้าหมายการอภิปรายหลายครั้ง โดยมีการประชุมพรรคล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา สรุปได้ว่า การพิจารณางบประมาณครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นงบประมาณที่จัดขึ้นในภาวะวิกฤติภายใต้ผู้บริหารภาวะวิกฤติที่ไร้ความสามารถ ไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ โจทย์การอภิปรายครั้งนี้จึงไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้ เดิมแม้จะไม่เห็นด้วยก็ทำเพียงงดออกเสียง ให้เสียงข้างมากมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งเพื่อรับหลักการไปพิจารณากันต่อไป แต่พิจารณาโดยรอบแล้วเห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้จะใช้เป็นเครื่องมือบอกกับรัฐบาล บอกกับ ครม.ชุดนี้ว่า ไม่ควรที่จะเป็นผู้บริหารงบประมาณก้อนนี้ต่อไป พูดง่ายๆ คือไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำงบประมาณ ไม่ควรได้รับการไว้วางใจให้นำงบประมาณไปใช้ ไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้นำเอาเม็ดเงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชนไปใช้ ในฐานะที่เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่มีสิ่งที่จะตอบกับพี่น้องประชาชนว่าสิ่งที่ทำมาแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ประชาชนได้อย่างไร จะมุ่งเป้าไปตรงนี้ เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบย่อมๆ ในหมวดของงบประมาณ
“เราจะไม่รับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ ประเด็นการอภิปรายก็จะเป็นเหตุและผลที่จะแสดงให้เห็นว่าทำไมเราไม่รับหลักการ ทำไมเราไม่ไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บริหารต่อ เราดูภาพรวม ไส้ใน เม็ดเงินรายกระทรวงทั้งหมด ภาพกว้างงบประมาณครั้งนี้อยู่ที่ 3.1 ล้านล้าน ลดลงจากปีก่อน 2 แสนล้าน นับย้อนหลังไปไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เพราะภาระการใช้เงินของประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนคนและปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปีนี้คุณกลับจัดงบประมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว เราก็ตามลึกลงไปว่าทำไมจัดน้อยกว่าปีที่แล้ว ประหยัดงบประมาณหรือเปล่า สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกใช่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ใช่ มันเป็นการจัดงบประมาณภายใต้ภาวะที่คุณไม่สามารถหาเงินมาจัดทำงบประมาณได้ พูดง่ายๆ คือจัดเก็บรายได้ ได้ไม่พอ ภาพอย่างนี้ชัดว่าเป็นเพราะคุณไร้ความสามารถ เป็นเพราะปัญหาที่คุณไม่สามารถแก้ได้ ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเลยจัดเก็บภาษีไม่ได้ จัดเก็บเงินรายได้ไม่ได้ หาเงินได้แค่ 2.4 ล้านล้าน เม็ดเงินงบประมาณโดยการประมาณการทำได้มากสุดแค่ 3.1 ล้านล้านเท่านั้นเอง”
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ 1. รัฐธรรมนูญ 2. วิธีการงบประมาณ 3. พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มีกรอบว่าถ้าจะจัดงบประมาณภายใต้เศรษฐกิจย่ำแย่จะเป็นการจัดในลักษณะงบประมาณขาดดุล คือวงเงินที่ตั้งมากกว่ารายรับที่จัดเก็บได้ และหาเงินมาชดเชยในการขาดดุล คือมาจากการกู้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าการกู้ชดเชยการขาดดุล กู้ได้ไม่เกิน 20% ของเม็ดเงินงบประมาณโดยรวม บวกกับ 80% ของการส่งใช้เงินต้น (การชำระหนี้) จึงทำให้กู้ได้เต็มเพดานที่ 7 แสนล้านบาท บวกกับ 2.4 ล้านล้านบาท เท่ากับ 3.1 ล้านล้านบาท ถามว่าทำไมกู้มากกว่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นไปตามกฎหมาย ที่สำคัญจะล้นเพดานหนี้สาธารณะซึ่งกำหนดไว้ที่ 60% จริงที่อาจจะสามารถขยายได้ แต่กรอบกำหนดไว้เช่นนี้ เพราะฉะนั้นภาพของการจัดงบประมาณครั้งนี้จึงถูกลดไปจากเดิม
อัด ไม่จัดงบประมาณให้สอดรับปัญหาที่เกิดขึ้น
เมื่อไปดูไส้ในปรากฏว่าในสถานการณ์ที่เป็นภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 และเศรษฐกิจอย่างนี้ กลับไม่จัดงบประมาณให้สอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีงบแก้ปัญหาโควิด กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโควิดกลับได้รับงบน้อยลงและถูกลดงบประมาณมากกว่ากระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม ลดไปเพียง 5% ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ลดไป 10% นี่คือไส้ในของความไม่เหมาะสม จึงเป็นเหตุที่จะบอกว่าไม่ไว้วางใจให้บริหารงบประมาณก้อนนี้ต่อไป ไม่รับหลักการ เพราะไม่มีความสามารถในการบริหารงบประมาณ ยกตัวอย่างเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็ไม่ได้เอาไปฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ ไม่สามารถเยียวยาให้ประชาชนกลับมามีวิถีชีวิตปกติ และงบประมาณปี 2564 ที่อนุมัติไปก็ไม่เกิดมรรคเกิดผล จะใช้จุดนี้เป็นกรอบในการอภิปราย คือ 1. ความสามารถในการนำงบประมาณไปใช้ไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สอดรับกับปัญหา 2. การจัดงบประมาณไม่สอดคล้อง ไม่เหมาะสม 3. หาเงินไม่ได้
“GDP ที่มีอยู่ขณะนี้ ประมาณการขณะนี้ เราไม่มั่นใจว่าจะเป็นประมาณการรายรับทิพย์หรือเปล่า ประเด็นสำคัญเราดูไส้ใน โดยเฉพาะ 7 กระทรวงหลักเป้าหมายที่พรรคเพื่อไทยเราตั้งไว้ เช่น คมนาคม สาธารณสุข กลาโหม ปรากฏว่ามีลักษณะที่ส่อไปทางเอื้อประโยชน์ จัดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ขนาดภาวะวิกฤติอย่างนี้ยังจะเอางบประมาณไปเพื่อหาประโยชน์อยู่ เป็นกรอบที่จะเป็นเหตุเป็นผลในการอภิปราย”
สำหรับผู้อภิปรายของพรรคเพื่อไทยขณะนี้ลงชื่อไว้ทั้งหมด 55 คน แบ่งเป็นกลุ่มตามกรอบ ผูกเรื่องเป็นสตอรี่ช่วยกันนำเสนอ ได้เวลามา 760 นาที (12 ชั่วโมงเศษ) ภาพการอภิปรายจะคล้ายกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่เน้นเรื่องงบประมาณ โดยการสรุปจบจะเรียกร้องว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ไม่ควรจะรับหลักการ เพราะจะทำให้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถนำไปใช้สะเปะสะปะ ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมือง โดยจะร้องขอไปที่พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงฟ้องพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอผู้สรุปจบคือ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ส่วนพรรคจะคิดเห็นอย่างไรว่ากันอีกครั้ง
ไม่ได้ต่อต้านการกู้เงิน แต่คนกู้ กู้มาแล้วใช้ไม่เป็น
ในส่วนข้อสังเกตว่างบประมาณปี 2565 ที่ไม่เน้นในเรื่องโควิด-19 อาจเพราะมีการแยกออกมาเป็น พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฉบับ 2 แล้วนั้น มองว่าสมมติฐานนี้อาจจะเป็นจริง ซึ่งเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 7 แสนล้านบาท อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ว่าที่ไม่ได้จัดไว้ในงบประมาณเพราะมีจะเงินที่ใช้กฎหมายเฉพาะในการแก้ปัญหาแยกไปต่างหาก เป็นเงินนอกงบประมาณ แต่ก็มีคำถามว่าทำไมจึงไม่นำเข้าสู่ระบบงบประมาณจะได้ผ่านการตรวจสอบและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะสภาฯ เคยอนุมัติเงินกู้ในลักษณะนี้ไป คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กรอบการใช้ก็มี 3 แผนเหมือนกัน เพียงแต่วงเงินรวมลดลงมาเหลือ 5 แสนล้านบาท เป็นเรื่องรัฐบาลต้องชี้แจง โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้มาอภิปรายอย่างหนัก
“เราไม่ได้ต่อต้านเรื่องการกู้เงินมาเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ แต่เราต่อต้านที่คนกู้ กู้มาแล้วใช้ไม่เป็น คุณหาเงินไม่เป็น คุณใช้ไม่เป็น เอามาปู้ยี่ปู้ยำ เราไม่เห็นด้วย ถ้าจะมีมติว่าไม่ยอมให้ พ.ร.ก.กู้เงินนี้ผ่าน ก็คือเหตุผลของผู้บริหาร ก็คือผู้ใช้เงิน มากกว่าเรื่องเม็ดเงิน นั่นเป็นเหตุผลหลัก เรื่องที่ 2 ระบบการตรวจสอบดำเนินการก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะยกมาประกอบได้ เพราะประสบการณ์ 1 ล้านล้าน ที่ผ่านมามันไม่ได้ผลจริงๆ เชื่องช้าและไม่เกิดประโยชน์ หลายคนอาจจะอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีที่คุณไปตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาจัดการ ก็เป็นประเด็นที่จะต้องพูดจากัน”
เป็นเรื่องจริง รัฐกู้เงินทุกคนต้องร่วมกันใช้หนี้
ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางว่าทุกคนในประเทศต้องร่วมใช้หนี้ ก็เป็นความจริง เพราะถือเป็นหนี้สาธารณะ เงินกู้ทุกเม็ดที่กู้มาโดยรัฐบาลก็ดี หรือรัฐบาลค้ำประกันก็ดี เป็นรัฐบาลกู้โดยตรง หนี้สาธารณะคือหนี้ของทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ ต้องมีภาระที่จะต้องใช้หนี้ เมื่อเป็นหนี้ของทุกคน คนที่เอาภาษีอากรของประชาชนไปใช้แล้วทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อน ต้องรับภาระหนี้โดยไม่จำเป็น ก็คงต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ส่วนวิธีการใช้หนี้ตามกฎหมายคือ รัฐต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาชดใช้หนี้ โดยใน พ.ร.บ.งบประมาณ ทุกปีจะมีหมวดที่ว่าด้วยการนำเม็ดเงินไปชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ย งบประมาณที่ตั้งก็เก็บจากเงินภาษีอากรของประชาชน จริงอยู่ที่มีระยะเวลาในการชำระหนี้ตามกรอบกฎหมาย แม้ไม่ใช่ทางตรงแต่เป็นการนำภาษีอากรจากเก็บประชาชนมาทยอยใช้หนี้ที่ไปก่อมา
นายกฯ ที่ดีที่สุดไม่ได้ชื่อ “ประยุทธ์” จี้พิจารณาตัวเอง
หมอชลน่าน ยังฝากทิ้งท้ายถึงคณะรัฐมนตรีชุดนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี วิกฤติประเทศชาติขณะนี้ขอให้กลับมามองให้ลึกซึ้งว่าปัญหาเกิดจากอะไร วิธีการแก้ปัญหาขณะนี้ใช่หรือไม่ เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ถ้าไม่ถูกก็ไปปรับแก้ องค์กรต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ถ้าไม่สอดรับสอดคล้องก็ต้องปรับเปลี่ยน พร้อมระบุถึง 3 ข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ขอให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการ วิธีการบริหารทั้งหมด โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริง มองถึงความสำคัญขององค์ความรู้ ของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นหลัก หมายความว่า บริหารการแพทย์ก็ต้องเชื่อและเคารพในข้อเสนอของผู้ที่มีเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์และด้านการระบาดวิทยา ไม่ใช่นำคนที่เป็นทหาร ฝ่ายความมั่นคง มาคุมการบริหารทางการแพทย์ จนเละเทะล้มเหลวอยู่ขณะนี้ อยากขอร้องว่าต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เร็วที่สุด
2. อะไรที่จำเป็นต้องทำให้พี่น้องประชาชนโดยด่วน เช่น การจัดหาวัคซีนให้มีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทุ่มเทงบประมาณไปเสริมศักยภาพของฝ่ายปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงใดๆ ที่เป็นแพทย์ พยาบาล ด้านหน้าทั้งหลาย ให้มีศักยภาพได้เต็มที่ในการทำหน้าที่ จำเป็นต้องหาอาสาสมัคร จ้างเพิ่มเติมก็ต้องทำ ต้องสนับสนุน
3. แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควรจะพิจารณาตัวเอง อย่าให้ถึงกับคว่ำ พ.ร.บ.งบประมาณ แล้วต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะอ้างว่าเป็นข้อขัดแย้งกับรัฐสภา, สภาผู้แทนราษฎร อาศัยเหตุนี้เป็นการลาออกหรือยุบสภา ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทนไม่ไหว แค่ไม่ยกมือให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็ต้องทำ 2 สิ่งนี้ เพราะฉะนั้นไตร่ตรองให้ดี ถ้าคิดว่าไปไม่ไหวจริงๆ ควรประกาศรับผิดชอบความผิดพลาดบกพร่องที่เกิดขึ้น คือ ลาออก และมีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมา
“คุณไม่ต้องห่วงหรอกว่าใครจะมาเป็นนายกฯ แทน ใครดีมากกว่า ขนาดวัคซีนคุณยังบอกว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มี ก็ต้องบอกกับคุณว่า นายกฯ ที่ดีที่สุดขณะนี้คือนายกฯ ที่ไม่ได้ชื่อประยุทธ์ ขอให้พิจารณาเพื่อประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมือง”
ไม่นานเกินรอ สภาฯ ก็พร้อมที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หลายคนเฝ้าจับตาดูการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ว่าจะมีข้อมูลแน่นปึกแค่ไหน ทำหน้าที่ได้อย่างดุเด็ดและสมศักดิ์ศรีเพียงใด ส่วนพรรคเพื่อไทยเองก็ออกตัวแล้วว่าไม่รับหลักการในวาระแรกของงบประมาณแน่นอน ขณะที่ฟากฝั่งรัฐบาลจะชี้แจงในข้อท้วงติงต่างๆ อย่างไรเพื่อให้กฎหมายที่สำคัญของประเทศอย่างงบประมาณและงบเงินกู้ผ่านสภาฯ ไปได้ในยามที่ประเทศยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่สุดแล้วคงต้องรอติดตามจากการประชุมสภาฯ ที่จะมีขึ้นในห้วงวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun