“ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง ร้องศาลปกครองสูงสุด ขอเพิกถอนมติ ครม.กู้เงินฉุกเฉิน 7 แสนล้าน สู้โควิด-19 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน อ้างรัฐบาลทำผิดวินัยการคลัง ผิดรัฐธรรมนูญ 

วันที่ 24 พ.ค. ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะแกนนำกลุ่มสามัคคีประชนเพื่อประเทศไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ที่มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ออกร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ... วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่มีมติเห็นชอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ นายธีระชัย กล่าวว่า เราไม่ได้ขัดขวางการกู้เงินเพราะตระหนักดีว่าประชาชนมีความเดือดร้อนและในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากมายและจำเป็นต้องใช้เงินอีกไม่น้อย แต่การใช้เงินจำเป็นจะต้องดำเนินการไม่ให้ผิดรัฐธรรมนูญหากปล่อยให้มีการออก พ.ร.ก.ที่ผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ สุดท้ายประชาชนก็ไม่ได้เงินอยู่ดี เพราะจะคนทักท้วงได้ จึงมาขอให้ศาลพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ 

 

“เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวทั้งสองฉบับน่าจะคล้ายคลึงกัน แต่ปัญหาคือ มีการตัดตอนองคาพยพในการตรวจสอบ กำกับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสรัดกุมของหลักวินัยการเงินการคลังออกไปแล้วไปยกร่างให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมามีอำนาจเบ็ดเสร็จในการคัดเลือกโครงการและเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ กำกับโครงการ และมีอำนาจในการออกระเบียบ ซึ่งลักษณะนี้ถือเป็นการใช้จ่ายที่หละหลวม ขัดกับวินัยการเงินการคลัง” นายธีระชัย กล่าวและว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างรอทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้แถลงข่าวเสนอแนะต่อองคมนตรีว่า ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างรอบคอบ ให้นำความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาประกอบด้วย ขอแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า การนำเสนอร่างกฎหมายที่ผิดรัฐธรรมนูญต่อพระมหากษัตริย์เข้าข่ายเป็นความผิด ม.112 โดยตรง และในอนาคตการทำสัญญาเงินกู้ของรัฐบาลกับหน่วยงานต่างๆ อาจจะมีปัญหา หากมีการหยิบยกเป็นประเด็นโต้แย้ง ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติกฎหมายเงินกู้ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายละเมิดประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ถ้ารัฐบาลยังยืนกรานว่าการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ถูกต้องแล้วจะเดินหน้าต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น.

...