เรื่องใหญ่แต่กลายเป็นข่าวเล็กๆ กรณีที่โฆษกรัฐบาลแถลง เรื่องคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ 881 โครงการ พร้อมด้วยวงเงินงบประมาณ 66,500 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทด่วนที่สุด ด่วนธรรมดา และโครงการที่จำเป็นมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ

เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการพร้อมกัน เข้าใจว่าเกือบ 900 โครงการนี้ เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ช่วยด้าน การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ตัวอย่างโครงการด้านเศรษฐกิจ เช่น ฝึกอบรมเกษตรกรอัจฉริยะ ให้สามารถใช้เทคโนโลยี

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่า รัฐต้องจัดทำแผนปฏิรูปด้านต่างๆ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โฆษกรัฐบาลชี้แจงว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ครบหนึ่งปีพอดี แต่น่าแปลกใจ ทำไมแผน ปฏิรูปประเทศจึงเงียบหายไปถึง 3–4 ปี

กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่สัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศทุกด้าน แต่ไม่ได้ทำอะไร เห็นมีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจหลายคณะ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องอื่นๆ อาจดองเอาไว้ หลังจากลงในราชกิจจานุเบกษา ล่าสุดมีกลุ่มประชาชนคนไทย ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเสียสละ

กลุ่มประชาชนคนไทย เป็นกลุ่มที่เคยสนับสนุนนายกรัฐมนตรี แต่คราวนี้ กลับเรียกร้องให้ลาออก เพราะล้มเหลวในการบริหารประเทศใน 7 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้ปฏิรูปประเทศตามสัญญา ตัวอย่าง เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจเรื่องหนึ่ง ตามที่ รัฐธรรมนูญระบุคือ “ปฏิรูประบบภาษีเพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ”

เสียงเรียกร้องให้เสียสละเพื่อชาติ และการทวงสัญญาการปฏิรูปประเทศอาจเป็นเหตุสำคัญ ทำให้นายกรัฐมนตรีงัวเงียขึ้นมาปัดฝุ่น บรรดาแผนการปฏิรูปที่เก็บดองไว้หลายปี โดยทำให้เป็นโครงการเร่งด่วนที่สุด ด่วนธรรมดา และเป็นเรื่องจำเป็น และต้องดำเนินการทันที ตลอดปี งบประมาณ 2565 และ 2566

...

น่าสงสัยในบรรดา 881 โครงการที่รื้อฟื้นขึ้นมา มีการปฏิรูปการเมืองรวมอยู่ด้วยหรือไม่ อาจไม่ถึงกับเร่งด่วนที่สุด ด่วนธรรมดาก็ได้ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลการสำรวจความเห็น ประชาชน โดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีคนส่วนใหญ่เห็นด้วย 77.5% สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.