• "รัฐสภา" เตรียมเปิดประชุมร่าง พ.ร.บ.งบฯประจำปี 2565 ระหว่าง 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.นี้ โดยรัฐบาลกำหนดวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 64 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท
  • ฮือฮา งบฯกระทรวงกลาโหม ได้ 2.03 แสนล้านบาท มากกว่า กระทรวงสาธารณสุข ถึง 5 หมื่นล้าน ทั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19
  • "กลาโหม" อ้างได้ปรับลดการจัดสรรจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ มีเพียงงบผูกพันจากต่างประเทศ พร้อมระบุ ทหารมีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องที่ผ่านมา

ยังไม่ทันเปิดรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่จะมีขึ้นระหว่าง 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.นี้ หลายกระทรวงก็ถูกหยิบมาเป็นประเด็นร้อนแล้ว เพราะการพิจารณาครั้งนี้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.66 โดยฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น และกองแช่งนอกสภา ต่างเปิดศึกรุมถล่ม "รัฐบาล" ตั้งแต่ระฆังยังไม่เริ่ม

พร้อมตั้งข้อสังเกต และมุ่งตรงไปยังงบประมาณของ "กระทรวงกลาโหม" ที่อ้างถึงภารกิจป้องกันประเทศ จนงบประมาณเพิ่มขึ้นแซงหน้า "กระทรวงสาธารณสุข" ถึง 5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้เป็นตำบลกระสุนตกทันที และถนนทุกสายก็มุ่งตรงไปที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม

...

แม้ "รัฐบาล" จะออกมาชี้แจง เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ รวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด    

โดยอ้างเพื่อครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

 
ขณะเดียวกันพบว่า ตัวเลขร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 ในครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งไว้ 1.53 แสนล้านบาท กลับถูกหั่นลงจากปีที่แล้ว ทั้งที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาโรคระบาดในเวลานี้ ส่วนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ในร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 65 ได้ตั้งไว้ 203,281 ล้านบาท ถือว่าลดลงจากปี 2564 กว่า 10,000 ล้านบาท โดย "กองทัพเรือ" ตั้งของบประมาณไว้ 41,300 ล้านบาท จำนวนนี้มีรายการโครงการที่เป็นงบผูกพันข้ามปีงบประมาณ 11 โครงการ ต้องจ่ายในปี 2565 จำนวน 4,854 ล้านบาท โดยในหนังสืองบประมาณ ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นงบผูกพันโครงการในส่วนการขอจัดสรรงบประมาณ

ส่วน "กองทัพบก" แม้มีการเสนอให้ยกเลิกโครงการจัดซื้ออาวุธ ถ้าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ในส่วนที่ขอตั้งงบประมาณ 2 ส่วน โดยส่วนแรก การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไประยะที่ 2 จำนวน 3,500 ล้านบาท การจัดหารถกู้ซ่อม จำนวน 677 ล้านบาท การจัดหาเครื่องช่วยฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง 600 ล้านบาท การจัดหาระบบควบคุมการยิงของรถถังเอ็ม 60 จำนวน 720 ล้านบาท ส่วนที่สอง เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีอีก 6,000 ล้านบาท ทั้ง รถถัง VT-4 จำนวน 689 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี จำนวน 1,690 ล้านบาท ยานเกราะ Stryker (งบประมาณผูกพันข้ามปี รวม 2 ระยะ) จำนวน 2,560 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ากองทัพบกคงจะหั่นงบฯที่ไม่จำเป็นออก

เช่นดียวกับ "กองทัพอากาศ" ขอตั้งงบประมาณไว้ 2 ส่วน ทั้งจัดหาเครื่องบินแบบที่ 19 (ทดแทน PC-9) จำนวน 1,800 ล้านบาท จัดหาเครื่องบินเครื่องบินโจมตีขนาดเบา (ทดแทน L-39) จำนวน 900 ล้านบาท อีกส่วนเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี ได้แก่ การปรับปรุง Software Gripen จำนวน 1,700 ล้านบาท เครื่องบินโจมตี AT-6 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท เครื่องบินขับไล่-ฝึก T 50 TH จำนวน 2,000 ล้านบาท

แม้จะเข้าใจได้ว่า "กระทรวงกลาโหม" มีหน้าที่ป้องกันประเทศ ย่อมจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ แต่สภาพปัจจุบันที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติโควิดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น กลับมีแต่จะแย่ลง จนมีผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยสะสม 119,949 ราย เสียชีวิต 678 ราย ดังนั้นการจัดงบฯเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกฝ่ายจึงยอมรับไม่ได้แน่


กระทั่ง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นว่า "กลาโหม" มีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศ และการช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์ของโรคระบาดร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกฝ่ายที่ต้องหันหน้าช่วยเหลือกัน ซึ่งกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพ ตระหนักถึงภาระงบประมาณของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องนำไปแก้ไขปัญหาต่างๆ และเยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้มีส่วนร่วมพิจารณาปรับลดงบประมาณในภาพรวมของทุกเหล่าทัพลงกว่า 18,000 ล้านบาท ในปี 63 และในปี 64 กลาโหมก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงกว่าปี 63 จำนวนกว่า 17,200 ล้านบาท ต่อเนื่องมาถึงปี 65

"แต่ละกระทรวงก็มีภารกิจที่แตกต่างกัน และกลาโหมขอยืนยันถึงความพร้อมในทุกภารกิจเพื่อประชาชน จึงไม่อยากให้นำงบประมาณของแต่ละกระทรวงไปเปรียบเทียบกัน"

ขณะที่ "กลาโหม" ออกมาย้ำ งบประมาณจำนวน 2.03 แสนล้านบาท ลดลง 1.1 หมื่นล้านบาท หรือลดลงราว 5.4% ซึ่งเป็นการปรับลดทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม

"กองทัพบก" งบจัดหาอาวุธลดลง 5.9 พันล้านบาท ลดจาก 2.83 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.23 หมื่นล้านบาท "กองทัพเรือ" งบจัดหาอาวุธลดลง 460 ล้านบาท ลดจาก 1.5 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.46 หมื่นล้านบาท "กองทัพอากาศ" งบจัดหาอาวุธลดลง 1.14 พันล้านบาท ลดจาก 2.07 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.96 หมื่นล้านบาท

พร้อมระบุงบประมาณกลาโหม ลดลงอย่างต่อเนื่องมา 2-3 ปี เพราะประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องลดงบประมาณรายจ่ายลง โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธที่เป็นการซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายในการถูกปรับลดลงเป็นส่วนแรกๆ พร้อมฉายภาพให้เห็น

"กองทัพบก" ต้องเป็นเหล่าทัพที่ถูกตัดงบประมาณจัดหาอาวุธมากที่สุด โดยงบประมาณ 2565 ทบ.เสนอขอจัดหาอาวุธรายการใหญ่หลายรายการ ซึ่งโครงการที่เป็นงบประมาณผูกพันมาตั้งแต่ปี 2564 นั้นคงจะตัดลดไม่ได้ เพราะผูกพันสัญญาไปแล้ว เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AH-6 โครงการจัดหายานเกราะ Stryker โครงการจัดหาปืนใหญ่ 105 มม. และ 155 มม. หรือโครงการจัดหารถถัง VT-4

แต่ในส่วนที่ตัดลดจะเป็นโครงการใหม่ เช่น โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk มูลค่า 3,500 ล้านบาท โครงการปรับปรุงรถถัง M60 มูลค่า 720 ล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องตัดออกทั้งหมด ทำให้ปี 2565 โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ที่เป็นรายการใหญ่ๆ แทบจะไม่มี

"กองทัพเรือ" ถูกตัดลดงบประมาณ 460 ล้านบาท ในปี 2565 เพราะที่ผ่านมา กองทัพเรือ ส่งสัญญาณเลื่อนจัดหาเรือดำน้ำ S26T ลำที่ 2 และ 3 โดยไม่ได้เสนอของบประมาณตรงนี้ แต่โครงการอื่นก็มีการของบฯไม่ว่าจะเป็น โครงการปรับปรุง เรือหลวงปัตตานี มูลค่า 3,500 ล้านบาท เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล Do228 มูลค่า 800 ล้านบาท โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่ มูลค่า 3,500 ล้านบาท โครงการจัดหายานเกราะ VN-16 มูลค่า 800 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และโครงการจัดหาเรือ OPV ชุดใหม่จำนวน 1 ลำ มูลค่า 6.5 พันล้านบาท หรือโครงการจัดหาเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพล ลำที่สอง มูลค่า 1.65 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการ OPV นั้นเป็นการต่อเรือในประเทศ การปรับลด กองทัพเรือ อาจเลือกตัดโครงการที่จำเป็น เช่น โครงการจัดหาดาวเทียมสื่อสารมูลค่า 400 ล้านบาท

"กองทัพอากาศ" ถูกตัดลดงบประมาณ 1.14 พันล้านบาท ซึ่งกองทัพอากาศมีหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่ และคาดว่าจะไม่ได้ถูกตัดออกไป เช่น โครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6TH อีก 4 ลำ ทดแทน L-39 ZA/ART ที่จัดหาในปี 2564 แล้ว 8 ลำ จะต้องจัดหาอีก 4 ลำ ในปี 2565 ซึ่งก็น่าจะไม่ถูกตัด รวมถึงโครงการที่เป็นงบประมาณผูกพันมาตั้งแต่ 2564 เช่น โครงการจัดหาเครื่องบิน T-50 ระยะที่ 4 จำนวน 2 ลำสุดท้าย โครงการจัดหาดาวเทียม Microsatellite จำนวน 2 ดวง มูลค่า 1.4 พันล้านบาท หรือโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตี AT-6 จำนวน 8 ลำแรก

นอกจากนี้ "กองทัพอากาศ" มีโครงการใหญ่ จัดหาเครื่องบินลำเลียงทดแทน เครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 ที่มีอายุใช้งาน 40 ปี ซึ่งตามแผนเดิมจะเริ่มโครงการในปี 2565 นี้ แต่จากภาวะนี้น่าจะทำให้โครงการต้องเลื่อนออกไปแน่ เพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณทั้งโครงการในหลัก 4 หมื่นล้านบาทต่อ 12 ลำ โดยแบ่งเป็นสามระยะ ระยะละ 4 ลำ ซึ่งถ้าเลื่อนจริงก็น่าจะทำให้โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-16ADF ก็น่าจะต้องเลื่อนออกไปอีกด้วยแน่นอน

โดยงบประมาณ "กระทรวงกลาโหม" ที่ตั้งขอ 203,282 ล้านบาท เมื่อจำแนกให้เห็นประกอบด้วย งบประมาณของกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานในกำกับ 95,980,159,000 บาท แบ่งเป็น "สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม" 5,159,900,900 บาท "กองบัญชาการกองทัพไทย" 7,410,600,200 บาท "กองทัพบก" 39,694,972,200 บาท "กองทัพเรือ" 18,632,080,800 บาท "กองทัพอากาศ" 24,932,604,900 บาท "สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" 150,000,000 บาท

งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 105,034,561,800 บาท แบ่งออกเป็น "สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม" 4,035,147,400 บาท "กองบัญชาการกองทัพไทย" 7,100,988,600 บาท "กองทัพบก" 58,891,833,600 บาท "กองทัพเรือ" 21,282,934,400 บาท "กองทัพอากาศ" 13,457,939,800 บาท "สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" 265,718,000 บาท

อย่างไรก็ตามเนื่องในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากการจัดทำงบประมาณในส่วนกลาโหมยังมุ่งสู่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าที่จะนำงบฯมาดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา และรักษาประชาชน นั้นก็อาจมีผลพวงตามมา เพราะสังคม ประชาชน กำลังจ้องมองการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้ร่มเงาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อถึงจุดนั้นอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ก็อาจเป็นไปได้ทุกอย่าง. 

ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว

กราฟิก : Jutaphan Sooksamphun