น่าเสียดาย การชุมนุมซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเมืองไทย แต่ขณะนี้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ชุมนุมทีไรแตกกระเจิงทุกที นำไปสู่ความรุนแรงบ่อยครั้ง จนสำนักงานศาลยุติธรรมต้องออกแถลงการณ์ ระบุว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

แต่เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง สร้างความหวาดกลัวไปยังบุคคลในครอบครัวผู้พิพากษา โดยมุ่งหวังผลให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาที่กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงมุ่งประสงค์เป็นผลจากการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยแกนนำกลุ่มราษฏรที่ถูกกุมขัง มีการขว้างปาสิ่งของ และวัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง

เป็นความรุนแรงอีกครั้งที่เกิดขึ้น จากการชุมนุมในระยะหลังๆ ถือว่าไม่ใช่ “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นเหตุ ทำให้กลุ่มแนวร่วมหรือกลุ่มผู้สนับสนุน ลดน้อยลงไป เช่นเดียวกับการชุมนุมที่เกี่ยวพันถึงสถาบัน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ก็ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดมากขึ้น จนแทบจะทำให้การชุมนุมแทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นเก่า แค่นัดกันไปชุมนุมที่ท้องถนน อาจโดนข้อหาทันทีอย่างน้อยก็โดนข้อหาห้ามมั่วสุมชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ

ทำให้รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุด ของประเทศที่รับรองเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นไร้ความหมาย กฎหมายลูกใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เกิดวิวาทะเรื่องรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมอย่างสงบ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ และถูกจับกุม

ส่วนผู้ชุมนุมโดยสงบก็อาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น แต่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจที่จะจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แค่กล่าวหาแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องยอมให้จับกุมแต่โดยดี

...

เป็นการมองรัฐธรรมนูญและมองสิทธิเสรีภาพต่างมุม ทำอย่างไรกลุ่มผู้ชุมนุมจึงจะชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้ความรุนแรงไม่สุดโต่ง ยึดทางสายกลาง รัฐบาลก็ต้องยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ เคารพเสรีภาพของประชาชน ไม่อ้างกฎหมายที่ออกมาเพื่อใช้ยามฉุกเฉินเป็นสรณะ.