สหภาพยุโรปยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีน แอสตราเซเนกา ฐานไม่รักษาสัญญาในการจัดส่ง วัคซีนโควิด-19 ที่จะต้องส่ง วัคซีนแอสตราเซเนกา ให้ อียู จำนวน 180 ล้านโดส ในไตรมาสแรกของปีนี้ จากจำนวน 300 ล้านโดส ที่จะจัดส่งให้ครบภายในต้นปีหน้า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา แอสตราเซเนกา ออกแถลงการณ์ว่าจะส่งวัคซีน 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย. หรือไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

สัญญาณสำคัญของวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม โอกาสที่จะเกิดการขาดแคลนอีกรอบ มีความเป็นไปได้มาก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ลดลงเลย มีการเคลื่อนย้ายการแพร่ระบาดอยู่ตลอดเวลา สหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป บราซิล แอฟริกา รัสเซีย แล้วก็มา อินเดีย ที่มีผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน 3-4 แสนรายต่อวัน

ไวรัสกลายพันธุ์ ไปตามพื้นถิ่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์อินเดีย และที่พบล่าสุด สายพันธุ์ เบงกอล ซึ่งการกลายพันธุ์แต่ละครั้ง ไวรัสโควิด-19 จะแข็งแรงมากขึ้น ติดง่ายขึ้น ตายมากขึ้น และพัฒนาภูมิต่อต้านวัคซีนมากขึ้น ในขณะที่วัคซีนที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ ประสิทธิภาพลดลง และ มีผลข้างเคียง ที่รุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าประชากรโลก ได้รับวัคซีนช้าเท่าไหร่ โอกาสที่ไวรัสจะพัฒนาสายพันธุ์ก็ยิ่งมากเท่านั้น

ยอดผู้ป่วยสะสมโควิด-19 ในไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเดือน เม.ย. มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 6 หมื่นราย จากรอบแรกที่ติดเชื้ออยู่ในระดับหลักพันเท่านั้น แปลว่าเดือนเดียวมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ย 3-4 หมื่นราย (เฉพาะที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและมีเตียงรองรับ) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เป็นผู้ร้ายรายใหม่ ที่มีปรับท่อนเล็กท่อนน้อย ติดเซลล์ได้แนบแน่น หลบการมองเห็น และภูมิคุ้มกันสูง แถมมีอาวุธเพิ่มมาอีก

...

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการหนักจนเสียชีวิต ค่อนข้างจะน่าตกใจ บางรายอยู่ในห้องไอซียูได้เป็นสัปดาห์ แล้วค่อยๆลดเวลาลงเหลือ 5 วันจนกระทั่งเหลือแค่ 3 วัน ก็เสียชีวิตแล้ว อายุของผู้ติดเชื้อมีตั้งแต่อายุเฉลี่ย 80 ปี จนถึง 2 เดือน ความยากลำบากก็คือการรักษาพยาบาล ทั้งเด็กทั้งคนแก่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ที่ลำบากกว่านั้นคือ บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนลดลง จนกระทั่งยาที่ใช้ในการรักษาก็เหลือน้อยลง ห้องไอซียูก็เหลือน้อยลงทุกวัน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หอการค้าไทย ผนึกกำลังกับภาคเอกชน ซีอีโอ กว่า 40 ชีวิตเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย เป็นแกนนำ ตกลงกันว่า จะตั้งทีมงาน 4 ทีม คือทีมสนับสนุนเรื่องสถานที่ฉีดวัคซีน ทีมสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนเร็วๆ ทีมสื่อสารและทีมจัดหาวัคซีนเพิ่ม

โดยซีอีโอภาคเอกชน พร้อมที่จะควักกระเป๋าซื้อวัคซีน มาฉีดให้กับพนักงาน คนงาน ลูกจ้างเองด้วยซ้ำมีแจ้งความประสงค์มาแล้ว 2,629 บริษัท ต่อมามี ประกาศของหอการค้า แจ้งความคืบหน้าว่า รัฐบาลแจ้งมาว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาไว้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนทุกคนแล้ว

ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหามาเพิ่มเติม

ก็ต้องจบลงแบบเดิมๆ ต้องสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชเท่านั้น (เพื่อ?)

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th