ก็เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล้าแตกหักกับพรรคภูมิใจไทย ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกคำสั่งบริหารฉบับที่ 3 ยึดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ การอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา การป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน จาก พ.ร.บ.31 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นอำนาจของ รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการ และกระทรวงอื่นอีกนิดหน่อย
การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ ไม่รู้ไปเห็นอะไรในกอไผ่เลยไม่ทน เหมือน หอการค้าไทยและ 40 ซีอีโอยักษ์ใหญ่เอกชนที่ไม่ทน และ หมอไม่ทน ที่ออกมาเรียกร้องให้นายกฯเปลี่ยนแปลง
ไปดูการยึดอำนาจสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ยึดอำนาจอะไรไปบ้าง หลักๆก็เป็น อำนาจสั่งการในกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ เรื่องยาและวัคซีนที่เป็นปัญหามากในเวลานี้ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ยา, ความมั่นคงด้านวัคซีน, การแพทย์ฉุกเฉิน, การสาธารณสุข, เครื่องมือแพทย์, เชื้อโรคและพิษจากสัตว์, สถานบริการ, สถานพยาบาล, สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ, หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, องค์การเภสัชกรรม, อาหาร, ประกันสังคม ไปจนถึง พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย, การเดินอากาศ, จราจรทางบก, คนเข้าเมือง, ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
คุณอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกสำนักนายกฯ แถลงถึงเหตุผลการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมคิดว่าเอกชนส่วนใหญ่คงดีใจที่ นายกฯยึดอำนาจสั่งการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่อง อำนาจการอนุญาตอนุมัติต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยมานานแล้ว แม้ในยามที่ประชาชนเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข วัคซีนโควิด-19 นานายี่ห้อสั่งเข้ามาไม่ได้ ทั้งที่บางประเทศสั่งวัคซีนล่วงหน้าจนล้นประเทศ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาโควิด-19 ก็สั่งเข้ามาไม่เพียงพอ และเบิกยายาก ไม่มีการกระจายยาไปทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ทั้งที่ยาไม่ได้ขาดตลาด
...
(พุธ 28 เม.ย. หลังจากที่ผมเขียนเรื่อง “ยาฟาวิพิราเวียร์” ไปแล้ว คุณไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษก แถลงว่า นายกฯพูดใน ครม. ให้ติดตามดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ย้ำให้จัดหายาและเวชภัณฑ์อื่นให้เพียงพอ (ก่อนจะมีคำสั่งยึดอำนาจ) คุณอนุทิน รายงาน ครม. เรื่อง ยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า ได้สั่งจากญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศขณะนี้ ได้กระจายไปยัง รพ.รัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว ได้ให้ องค์การเภสัชกรรม เร่งเจรจาสิทธิบัตรยาเพื่อผลิตในประเทศไทย รพ.เอกชนสามารถนำเข้าได้ รัฐไม่ได้ผูกขาดแต่อย่างใด)
เช้าวันพุธเดียวกัน คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ได้ยกทีมหอการค้าไทยและซีอีโอเอกชนเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ตามนัดหมาย เพื่อเสนอ แผนกระจายวัคซีนให้ประชาชน และ การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ นายกฯก็เห็นชอบตามที่เสนอ ให้ภาครัฐเอกชนทำงานร่วมกันเป็น “ทีมประเทศไทย” คู่ขนานกันไป
เอกชนได้เสนอ แผนกระจายวัคซีนใน กทม. 66 แห่ง ในกรุงเทพเหนือ-ใต้-ตะวันออก กรุงธนเหนือ-ใต้ ฉีดได้วันละ 20,500 คน ดึง ทีมสื่อสารมืออาชีพ เช่น ไลน์, กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ซีพี, วีจีไอ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนฉีดวัคซีน ทีมไอที นำโดย ไอบีเอ็ม คิวคิว ไลน์ แกร็บ ไปช่วย “หมอพร้อม” ประยุกต์ให้เป็นแอปที่ใช้งานง่าย เป็นต้น
เมื่อ รัฐบาลร่วมเอกชนทำงานอย่างโปร่งใสเช่นนี้ ผมเชื่อมั่นว่า เราจะรอดแน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”