โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทที่กระทรวงมหาดไทยสั่งให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเป็นผู้จัดทำ ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันต่อไป รวมทั้งกรณีที่สำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้รัฐมนตรีรับ ผิดชอบแนวความคิดการเคลื่อนไทยไปด้วยกัน รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะมอบหมายงานให้รัฐมนตรีรับผิดชอบ รัฐมนตรีหลายคนเข้าใจและเข้าถึงในปัญหาของจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย แต่มีรัฐมนตรีหลายคน อาจไม่เหมาะสมกับจังหวัดที่มอบหมาย น่าจะหมายถึงมีรัฐมนตรีจากภาคเหนือบางคนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจังหวัดในภาคใต้

อีกด้านหนึ่งมีเสียงวิจารณ์จากนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่า การมอบให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบระดับประเทศมาดูแลงานระดับจังหวัด เป็นการบริหารที่มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นการแบ่งเค้กประเทศโดยไม่ได้ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และพูดถึงรัฐมนตรีจากภาคเหนือดูแลภาคใต้

การส่งรัฐมนตรีลงไปรับผิดชอบ ในการกำกับดูแลแนวความคิด “การเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ในระดับจังหวัดน่าจะไม่สอดคล้องกับหลักการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เมื่อรัฐบาลส่วนกลางมอบนโยบายและงบประมาณให้จังหวัดแล้ว จะต้องมอบหมายให้ระดับจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการขับเคลื่อนท้องถิ่น เป็นการบริหารประเทศที่ถูกต้อง เพราะส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า ไม่ใช่ให้รัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการชาวบ้านให้เลี้ยงเป็ดและสุกร

...

ยิ่งกว่านั้น การมอบให้รัฐมนตรีรับผิดชอบระดับจังหวัด ยังเปิดช่องให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในการจัดทำโครงการของหน่วยงานรัฐหรือเข้าไปมีส่วนในการใช้เงินงบประมาณ เพื่อใช้ในการหาเสียง หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ พูดง่ายๆก็คือเปิดช่องให้มีการทุจริตโกงกินเหมือนอย่างในอดีต

ยังมีบางคดีที่ยังคาราคาซังอยู่ ยิ่งกว่านั้นยังน่าสงสัยด้วยว่า ทำไมพรรคพลังประชารัฐจึงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 185 เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการได้ เปิดช่องให้ก้าวก่ายแทรกแซงในการทำโครงการของหน่วยงานรัฐ และมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายได้ ทำไมจึงจงใจแก้ไข ม.นี้.