นับแต่มีการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ “ตลาดหุ้นและการเงินชะลอตัว” ทำให้กระแสความเคลื่อนไหว “นักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่” หันมาสนใจเกี่ยวกับ “โลกคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลยุคใหม่” ในการลงทุน “บิทคอยน์” สามารถทำได้บนออนไลน์อย่างล้นหลาม
แม้ก่อนนี้ “สถาบันการเงินไทย” เคยเตือนระวังถูกหลอก “ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล” โฆษณาชักชวนสื่อออนไลน์ และมักมีผู้หลงเชื่อสูญเงินหลายราย แต่ไม่อาจฉุดกระแสลงทุนเก็งกำไร “บิทคอยน์” อันร้อนแรงนี้ได้
และในช่วงต้นปี 2564 มีรายงานว่า “มูลค่าบิทคอยน์” ไต่ระดับขึ้นไปแตะ 40,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.2 ล้านบาทต่อบิทคอยน์อีกด้วยซ้ำ ตอกย้ำกระแสจูงใจ “นักลงทุนคนไทย” โดยเฉพาะกลุ่มคนเจนแซดต่างพากันแห่ลงสนามการเงินดิจิทัลที่เป็นทางเลือกการลงทุนกันอย่างคึกคักนี้
ตามข้อมูล สนง.คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2563 มีผู้เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 1.6 แสนบัญชี ล่าสุดวันที่ 1 มี.ค.2564 มีผู้เปิดบัญชีทะยานขึ้นสูงถึง 4.99 แสนบัญชี ซึ่งผู้ลงทุนกว่า 50% มีอายุไม่เกิน 30 ปี เหตุนี้ สนง.ก.ล.ต.จึงต้องหาแนวทางกำกับดูแลคุ้มครองนักลงทุนให้เหมาะสม
...
ด้วยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 บัญญัติให้ ก.ล.ต.มีหน้าที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดให้ “คริปโตเคอร์เรนซี” หมายถึง “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” มีความประสงค์ใช้เป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการหรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือกิจการใดๆรองรับในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมักเป็นเพียงการเก็งกำไร และราคามีความผันผวนสูง มีความเสี่ยงสูงกว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนอื่นๆ
คร่าวๆว่า...มีแผนกำหนดใช้หลักเกณฑ์ “คุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี และกำหนดทดสอบความรู้เกี่ยวกับการลงทุน (knowledge test)” ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนสอดคล้องการลดโอกาสเกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนี้
หลักเกณฑ์ “ฐานะการเงิน” รายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท “คุณสมบัติความรู้” เป็นผู้มีประสบการณ์ลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี หรือหลักทรัพย์สัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี ถ้าไม่เข้าข่ายข้อกำหนดนี้จะลงทุนตรงไม่ได้ ต้องผ่านผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
กระแสลงทุนสกุลเงินดิจิทัล “บิทคอยน์” กำลังเป็นที่นิยมไม่เฉพาะ “กลุ่มคนต่างชาติ” แต่ยังมี “คนไทย” ให้ความสนใจลงทุนจำนวนมากเช่นกันนี้ พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. วิเคราะห์ให้ข้อมูลว่า
จุดกำเนิดผู้สร้างสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์นี้ไม่มีใครทราบเป็นแน่ชัด แต่ตามข้อมูลใช้นามปากกาแฝงว่า “ซาโตชิ นากาโมโตะ” แต่ก็เชื่อว่าไม่ใช่ “คนญี่ปุ่น” เพราะลักษณะของชื่อออกสำเนียงเป็น “อังกฤษ” อีกทั้ง “ไทม์โซนของบิทคอยน์” มักมีการซื้อขายลงทุนกันในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกามากกว่าภูมิภาคประเทศอื่น
ความสำคัญการสร้างขึ้นนี้ในวิกฤติการเงินทั่วโลกที่รู้จักกัน “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” สาเหตุจาก “สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาล้ม” จากการปล่อยเงินกู้ง่าย เช่น เรานำเงินฝาก 1 ล้านบาท ธนาคารเก็บ 1 แสนบาท นำปล่อยกู้ 9 แสนบาท แต่บัญชีเราโชว์เงิน 1 ล้านบาท เพราะเป็นลักษณะก๊อบปี้เงินปล่อยกู้ออกไป
กระทั่งไม่สามารถเก็บชำระหนี้ได้ “ธนาคารล้ม” ทำให้เห็นความอ่อนแอระบบการเงิน ด้วยเหตุนี้ทำให้มี “สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์” ถูกสร้างบน “เทคโนโลยีใหม่บล็อกเชน” มีคุณสมบัติการกระจายศูนย์ใช้งานด้วยซอฟต์แวร์หลายประเภท “ผู้ใช้” ต้องโหลดโปรแกรมบิทคอยน์ลงคอมพิวเตอร์เชื่อมเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก
ตัวอย่างง่ายๆ สมมติ ตร.จราจรกลางย้ายฐานข้อมูลไว้ใน “บล็อกเชนของบิทคอยน์” ก็หมายความว่า ออกใบสั่ง 1 ใบจะถูกก๊อบปี้เท่าจำนวนผู้ดาวน์โหลดโปรแกรม ถ้ายกเลิกลบใบสั่งนี้ต้องทำใน 10 นาทีให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง เหตุนี้ “บล็อกเชนของบิทคอยน์” เป็นระบบแก้ไขข้อมูลไม่ได้ ที่เรียกว่า “เทคโนโลยีต่อต้านการคอร์รัปชัน”
ประการต่อมา... “บิทคอยน์ในประเทศไทย” ปัจจุบันนี้มีกฎหมายรองรับตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ด้วยการรับรองว่า “บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์” ดำเนินคดีกรณี “ฉ้อโกง” ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยการลงทุนผ่านบริษัทคนกลาง หรือโบรกเกอร์ เป็นผู้แทนซื้อขาย เพราะ “บิทคอยน์” เป็นสิ่งมาทดแทน “ทองคำ”
ถ้าวิเคราะห์ “ความนิยมซื้อทองคำ” ปัจจัยเพิ่มมูลค่านี้มีอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก... “ทองมีความคงทน” หากมีเงิน 1 ล้านบาท นำไปซื้อบ้านไม่กี่ปีก็พังทรุดโทรมมูลค่าตกต่ำลง จึงเลือกมา “ซื้อทองคำ” ที่มีความคงทนราคาคงเดิมอยู่เสมอ ประการที่สอง...“ทองคำ” ขุดมากเท่าไรยิ่งน้อยลงเท่านั้น ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น “ทองคำ” ถูกจัดให้เป็นสิ่งจัดเก็บรักษามูลค่าดีที่สุดในโลก มีการใช้หลักการนี้มานานกว่า 5 พันปีแล้ว กระทั่งก่อกำเนิดเกิด “บิทคอยน์” ขึ้นมานี้ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ “ทองคำ” อยู่ 2 ประการเช่นกัน คือ 1.“บิทคอยน์” มีความคงทนอยู่บน “บล็อกเชน” ไม่สามารถแฮ็ก หรือทำลายปิดระบบได้ด้วยซ้ำ
เรื่องที่ 2 “บิทคอยน์” มีจำกัดผลิตออกมาได้เพียง 21 ล้านเหรียญในโลก ในทุก 10 นาที จะมีผลิตบิทคอยน์ใหม่ราว 50 บิทคอยน์ ที่เรียกว่า “ขุดบิทคอยน์” แต่จะครบรอบ Bitcoin Halving หรือการลดทอนผลตอบแทนของการขุดลงครึ่งหนึ่งในทุก 4 ปี เช่น ใน 4 ปีนี้ผลิตออกมา 50 บิทคอยน์ และ 4 ปีถัดมาลดลง 25 บิทคอยน์
และอีก 4 ปีต่อมาลดลง 12.5 บิทคอยน์ เหตุนี้ “ทุก 4 ปีบิทคอยน์ขาดแคลนน้อยลง”ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นมูลค่าก็เพิ่มตามเช่นกัน ตอนนี้เหลือการผลิตได้อีก 2.5 ล้านเหรียญ คาดว่าใช้เวลาผลิตครบหมด 118 ปี
ย้ำว่า...ภายใน 12 ปีมานี้มูลค่าพุ่งกระฉูดอย่างมาก สามารถทำกำไร 200% ต่อปี ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างเล็งเห็นว่า “บิทคอยน์คือทองคำดิจิทัล” มีคุณสมบัติดีกว่าทองคำสามารถโอนย้ายในระบบดิจิทัลไปได้ทั่วโลก ที่ไม่ต้องมีค่าเก็บรักษา หรือค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วยซ้ำ
ประเด็น...เหตุคดีฉ้อโกงหลอกลวงลงทุนบิทคอยน์” ต้องบอกแบบนี้ว่า “ตัวบิทคอยน์ไม่ได้มีปัญหาใดๆ” แต่สิ่งที่เกิดมาจาก “พฤติกรรมบุคคล” นำตัวบิทคอยน์แอบอ้างหลอกผู้เสียหายลงทุนต่างๆ ตั้งแต่การระดมทุนไม่อั้น สร้างฐานข้อมูลบริษัทไม่ชัดเจนตรวจสอบไม่ได้ สร้างแรงจูงใจโหมเชียร์ลงทุนให้ได้กำไรมากขึ้น
เพราะ “คนไม่น้อย” ยังขาดความรู้ในการลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัล มักเข้าใจผิดเหมารวมธุรกิจบิทคอยน์หลอกลวงเป็นแชร์ลูกโซ่เหมือนกันหมด สิ่งสำคัญ “บิทคอยน์” มีลักษณะ “อำพรางตัวตนผู้ใช้งาน” ส่งผล “รัฐบาล” ไม่สามารถตรวจสอบรู้ตัวตนได้ กลายเป็นช่องทางการโอนเงินซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย หรือฟอกเงินก็ได้
ฉะนั้น “ผู้ปกครอง” ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ให้ทันสมัย “โลกดิจิทัล” ไม่ใช่เปลี่ยน “โลกโซเชียลฯ” ให้สอดรับกับกฎหมายที่มีอยู่ เพราะ “อินเตอร์เน็ตทำลายกำแพงนี้ลงแล้ว” เช่น คลิปวิดีโอโป๊เป็นเรื่องผิดกฎหมายไทย แต่ถามว่าจับกุมบุคคลใดได้หรือไม่ ทั้งที่โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแทบทุกเครื่องอาจมีคลิปโป๊อยู่ก็ได้
โดยเฉพาะอนาคต “อินเตอร์เน็ต” จะเป็นโลกแห่งกระจายศูนย์ที่ไม่มีใครขวางกั้นได้ ดังนั้นต้องเรียนรู้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ดีที่สุด ในส่วน “บิทคอยน์” มีข่าวว่า สนง.ก.ล.ต.กำลังกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบออกมากำกับดูแลควบคุมอยู่ เพราะเป็นห่วงการลงทุนขึ้นลงเร็ว 10-15% ต่อวัน ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสี่ยงขาดทุนเสียหายหมดตัว
แต่ถ้ามองในแง่ “บิทคอยน์เสมือนทองคำดิจิทัล” เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนเก็งกำไร เพราะเชื่อว่าแนวโน้ม “บิทคอยน์ในไทย” มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องสูงสุดปี 2025 เรื่องกำหนดเงินลงทุนนี้อาจถูกมองว่าเป็นการปิดช่องโอกาส “ผู้มีรายได้น้อย” ที่อาจสามารถทำให้ลืมตาอ้าปากได้หรือไม่
ดังนั้น “ไม่ควรจำกัดเงินการลงทุน” แต่ต้องสร้างความเข้าใจให้ “เกิดการเรียนรู้” และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดดีกว่า เพราะ “โลกดิจิทัลออนไลน์” ไม่อาจปิดกั้นกันได้แล้วด้วยซ้ำ
สุดท้ายนี้ขอฝากคำเตือนใจไว้เล็กๆ...การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์ปัจจัยให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเองบนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้...