รมช.คลัง ปลื้ม การจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ระยะที่ 2 - 3 คืบหน้าตามแผนการดำเนินโครงการที่กำหนด ขณะอธิบดีกรมธนารักษ์ กำชับ ต้องเสร็จก่อน 12 ส.ค. 2564 

วันที่ 5 เม.ย. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย กรมธนารักษ์ ประกอบด้วย นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ นายคณาวุฒิ สิติธีรพันธุ์ ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร นายบุญชอบ วิเศษปรีชา ผู้อำนวยการกองพัฒนาและบำรุงรักษาอาคารราชพัสดุ นางพวงพกา ร้อยพรมมา เลขานุการกรมและคณะ กองทัพบก ประกอบด้วย พลตรีฐกัด หลอดศิริ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีไพรัช โอฬารไพบูลย์ ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 พันเอกชุติภัทร วรรณทอง รองเสนาธิการกองพลพัฒนาที่ 1 และคณะ การยาสูบแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย นายอัฏฐเดช ดีสวาท รองผู้ว่าการด้านบริหารจัดการผลิต นายปรีชา บูชาธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกลาง และคณะ ผู้แทนบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด และผู้แทนบริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทผู้ออกแบบและที่ปรึกษาบริหารโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2 - 3 ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ระยะที่ 2 - 3

...

นายยุทธนา กล่าวว่า เมื่อปี 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ย้ายโรงงานยาสูบทั้งหมดไปอยู่ส่วนภูมิภาค และให้พัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 430 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลมีโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบดังกล่าว เพื่อร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระยศ ณ ขณะนั้น) เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะดังกล่าวว่า “เบญจกิติ” มีการออกแบบสวนสาธารณะ เป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ (เนื้อที่ 130 ไร่) และสวนป่า (เนื้อที่ 300 ไร่) กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนสาธารณะตามการส่งมอบพื้นที่ของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เปิดสวนน้ำแล้ว

สำหรับสวนป่า “เบญจกิติ” แบ่งเป็น 3 ระยะ โรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ภายในกรอบวงเงิน 950 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 รัฐบาลได้จัดกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ณ พื้นที่สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และได้ส่งมอบพื้นที่สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่ ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ระยะที่ 2 - 3 เป็นการดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ ต่อจากสวนน้ำ “เบญจกิติ” โดยโครงการฯ ในระยะที่ 2 - 3 ได้แบ่งขอบเขตงานออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้มีช่วงเวลาสำหรับเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นการดำเนินการในส่วนงานสวนที่เหลือ งานปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารกีฬาและอาคารพิพิธภัณฑ์ และเพื่อให้การก่อสร้างสวนป่าแล้วเสร็จตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ และสามารถจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ได้ กรมธนารักษ์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างฯ จึงขอความร่วมมือจากกองทัพบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2 - 3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563

สำหรับการออกแบบบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จะออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) สวนป่าเชิงนิเวศที่ใช้ศักยภาพจากต้นไม้เดิมในพื้นที่ที่เก็บรักษาไว้ จำนวน 1,733 ต้น และการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ 7,155 ต้น พรรณไม้ประมาณ 250 ชนิด โดยได้กำหนดพรรณไม้ใหญ่ในแต่ละจุดเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสวนป่าให้มีความโดดเด่นให้ภายในสวนป่ามีต้นไม้หลากสี สลับและเปลี่ยนไปหมุนเวียนกันแต่ละฤดู เช่น ต้นรวงผึ้ง ชมพูพันธุ์ทิพย์ หางนกยูงฝรั่ง ตะเคียนทอง นนทรี ราชพฤกษ์ เสม็ดขาว จิกน้ำ อินทนิลน้ำ รวมทั้ง ไม้น้ำหลากหลายชนิดพันธุ์ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำ จำนวน 4 บึง เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำและจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ได้ออกแบบทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่ ระยะทางรวม 5.8 กิโลเมตร ทางวิ่งระยะทางรวม 2.8 กิโลเมตร ทางจักรยานระยะทางรวม 3.4 กิโลเมตร มีแนวต้นไม้กั้นไว้ระหว่างกันให้เป็นสัดส่วน และสามารถใช้ทางเดินลอยฟ้า ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน เชื่อมไปยังพื้นที่สวนน้ำ “เบญจกิติ” ได้ สำหรับงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และปรับพื้นที่ภายในอาคารให้เปิดโล่งโดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในอาคารมากขึ้น สำหรับอาคารโกดังเดิม จำนวน 3 หลังได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา โดยเปิดพื้นที่กลางอาคารให้โปร่ง โล่ง ใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว รวมทั้งการออกแบบพื้นที่รองรับกิจกรรมของประชาชน บริเวณลานอัฒจันทร์ รองรับได้ 15,153 คน และลานด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ รองรับได้ 3,083 คน

สุดท้ายนี้ นายยุทธนา ได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะการก่อสร้างสวนป่าเบญจกิติ ที่จะต้องให้แล้วเสร็จก่อนการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นี้ พร้อมกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของกรมธนารักษ์ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี