อาจกล่าวได้ว่าการเมืองไทยในขณะนี้ ตกอยู่ในอาการซึมเศร้าทั้งในและนอกสภา การเมืองในสภาซบเซาลงไป หลังการปิดประชุมสมัยวิสามัญ ที่ปิดฉากลงพร้อมกับอาการอกหักของบรรดา ส.ส. ที่ผิดหวังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 7 ถึง 8 เมษายน ที่จะปิดประชุมสมัยวิสามัญ

เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ถูกฝ่ายค้านแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีการแก้ไขมาตราอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน ส่วนการเมืองนอกสภาก็ถือว่าซึมเศร้า ระดับแกนนำโดนอิทธิฤทธิ์ ม.112 ต้องนอนคุกโดยไม่มีกำหนดนับสิบๆคน มีคนร่วมชุมนุมน้อยลง แต่รัฐใช้กฎหมายแรงขึ้น

แม้แต่ประชาชนทั่วไปก็ตกอยู่ในอาการเซ็งนักการเมืองจากการสำรวจความคิดเห็น โดยนิด้าโพลที่ถามว่าสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่านักการเมืองระดับผู้นำทั่วประเทศสอบตก เพราะมีผู้ตอบว่า “ไม่สนับสนุนใคร” ถึง 30.10% เรียกง่ายๆ “โหวตโน” คะแนนมากกว่านักการเมืองทุกคน

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุด ก็ได้แค่ 28.79% ถือว่าสอบตก เพราะตามกติกาการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้คะแนนตํ่ากว่า “โหวตโน” สอบตกและหมดสิทธิ์จะลงแข่งขันในรอบต่อไป จึงถือว่าระดับผู้นำ ทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า พรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก สอบตกยกชั้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลของโพลพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ มองไม่เห็นผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมีคะแนนนิยมสูงสุดเกือบ 29% แต่แสดงว่ามีคนส่วนใหญ่ถึง 73% ที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และเห็นได้ชัดว่าเหตุผลสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนมากกว่าใคร เพราะมีอำนาจคุมงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท

...

ในขณะที่นักการเมืองคนอื่นๆ ไม่ได้มีอำนาจในการแจกเงินมหาศาล แม้แต่ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนนักการเมืองแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะมีอาวุธที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือการพูด และการดำเนินลีลาทางการเมือง ให้ถูกใจบรรดาแฟนๆ ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองซึมเศร้า คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปาหี่

การเคลื่อนไหวที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความสิ้นหวังในการแก้ไขรัฐธรรม-นูญ ได้แก่ การที่มีการจัดตั้ง หรือเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าอาจมีการยุบสภา และเลือกตั้งตามกติกาเดิม ให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมาอีกครั้ง ส่วนพรรคอื่นๆเป็นแค่ไม้ประดับ ไม่มีทางชนะเลือกตั้งตามกติกาพิสดาร.